วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #3: วิวัฒนาการของเกอิชา

     เกอิชาที่ทำงานอยู่ในสถานเริงรมย์มีข้อห้ามในการขายบริการทางเพศอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เป็นที่แบ่งแยกชัดเจนกับ Oiran (花魁) หญิงคณิกาเหล่านี้สามารถมีสัมพันธ์กับแขกได้อย่างถูกต้องเพราะมีการอนุญาติกันอย่างเป็นทางการ ในขณะที่เกอิชาจะมีส่วนเล็กๆ ที่สามารถใช้แบ่งออกจากหญิงคณิกาได้ โดยเปรียบเกอิชาเสมือนเป็นศิลปินหญิงผู้คงแก่เรียน

     ในช่วง ค.ศ.1800 เกอิชาดูเหมือนจะเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิง แม้ว่าจะมีเกอิชาชายอยู่จำนวนเล็กน้อยมากก็ตาม ในที่สุดการแต่งกายของ Oiran ที่สุดแสนจะฉูดฉาดก็ไม่ถือเป็นแฟชั่นเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป เพราะถูกเกอิชาที่แต่งตัว “เก๋” กว่าเข้ามาแทนที่ ต่อมาในปี ค.ศ.1830 การแต่งกายเยี่ยงเกอิชากลายเป็นที่นิยม ส่งผลให้หญิงแทบทั่วไปในสังคมแต่งกายเลียนแบบพวกเธอ โดยบนวิถีของเกอิชานั้นมีประเภทและระดับชั้นหลากหลายมาก จึงมีบางกลุ่มขายบริการทางเพศ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำเช่นนั้น แต่เพียงแสดงศิลปะที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเคร่งครัด จนถึงปี ค.ศ. 1900 การค้าประเวณีก็ไม่เป็นสิ่งถูกกฎหมายอีกต่อไป

     สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสื่อมถอยในสังคมเกอิชาในญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะหญิงหลายคนต้องเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานหรืองานอื่นแทน และสงครามยังส่งผลต่อชื่อเสียงของพวกเธอ หลายคน โดยเฉพาะทหารอเมริกันเข้าใจพวกเธอผิด และนำพวกเธอไปรวมกับคำว่า “หญิงคณิกา” ทั้งๆ ที่นั่นไม่ใช่ความจริง ต่อมาในปี ค.ศ.1944 โลกของเกอิชา หมายความรวมถึงโรงน้ำชา สถานให้ความบันเทิงทางศิลปะ และสำนักเกอิชา (โอกิยะ : 置屋) ถูกสั่งปิด ทุกคนในสายอาชีพนี้จึงต้องหันไปทำงานในโรงงานแทน แต่หลังจากนั้นประมาณปีหนึ่งก็ถูกยกเลิกคำสั่งปิด ทำให้พวกเขาเริ่มมาเปิดกิจการเกี่ยวกับเกอิชากันอีกครั้ง และหลายคนที่กลับไปทำงานเกอิชานั้นได้มีความคิดต่อต้านอิทธิพลตะวันตก แล้วหันหลังกลับมาใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ภาพลักษณ์ของเกอิชาถูกสร้างขึ้นในสังคมศักดินาสมัยโบราณของญี่ปุ่น และภาพลักษณ์เหล่านี้นั่นเอง ที่พวกเธอต้องการรักษาให้คงอยู่ไว้ต่อไป

     หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงคราม เหล่าเกอิชาต่างแยกย้ายกันไป ทำให้อาชีพนี้ตกอยูในวิกฤติ แต่ก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วง ค.ศ.1960 และส่งผลให้อาชีพเกอิชากลับมาเจริญอีกครั้งในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังลุกขึ้นมาเติบโตอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือเด็กหญิงจะไม่ถูกขายหรือถูกบังคับแต่อย่างใด แต่ชีวิตของพวกเธอหรือแม้แต่ชีวิตรักก็จะเป็นไปตามแต่ใจพวกเธอจะปรารถนา

เกโกะฝึกหัด (ไมโกะ : 舞妓)

     มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นมากมายในช่วงสงคราม ไมโกะ (เกโกะฝึกหัด) ถูกเข้าใจว่าจะต้องมีการประมูลเพื่อซื้อความบริสุทธิ์ของพวกเธอ (Mizuage) อันเนื่องมาจากความสับสนระหว่างพิธีของไมโกะและ yuujo (คณิกาฝึกหัด) ซึ่งพิธีซื้อความบริสุทธิ์นี้กลายเป็นสิ่งกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 เป็นต้นมา และกฎหมายการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ยังทำให้การฝึกฝนเกอิชาแบบดั้งเดิมยากขึ้นด้วย เพราะแต่ก่อน การฝึกฝนเด็กหญิงเพื่อเป็นเกอิชาจะเริ่มตั้งแต่เล็กๆ (อาจจะตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ) ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถทำได้

     โลกของเกอิชาแม้จะยังคงเป็นเรื่องลึกลับแม้กับชาวญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีหนังสือเกี่ยวกับเกอิชามากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือของ Mineko Iwasaki เธอกล่าวว่า “ฉันอาศัยอยู่ในโลกของเกอิชา (Karyuukai : 花柳界) ประมาณระหว่างปี ค.ศ.1960 ถึง 1970 แม้ช่วงนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากสังคมโบราณสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ฉันก็ยังคงอาศัยอยู่ในสังคมที่ถูกแยกออกต่างหาก ที่ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการรักษาวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมของเราไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป”

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น