วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #1: เกอิชา คืออะไร

     เกอิชา (芸者: จริงๆ ควรออกเสียงว่า "เกฉะ") คือหญิงสาวผู้ให้ความบันเทิงและต้อนรับแขก ที่มีมาแต่สมัยโบราณ ทักษะของพวกเธอคืองานศิลปะ เช่น การรำ การร้องและบรรเลงเพลง จัดดอกไม้ หรือแม้กระทั่งการสนทนาก็ยังถือว่าเป็นทักษะที่พวกเธอได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

     ในสังคมไทย เมื่อกล่าวถึงคำว่า "เกอิชา" บางท่านอาจนึกถึงหญิงโสเภณีชาวญี่ปุ่น ที่ขายเรือนร่างบริการชาย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะที่จริงแล้ว พวกเธอมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความบันเทิงแขกด้วยศิลปะเท่านั้น ส่วนหญิงโสเภณีจริงๆ ในสมัยก่อน จะเรียกว่า "โอยรัน (花魁)"

     คำว่าเกอิชา ประกอบด้วยอักษรคันจิสองตัว ได้แก่ "芸(gei) ที่แปลว่า ศิลปะ" และ "者(sha) ที่แปลว่า บุคคล" เกอิชา จึงแปลว่า "บุคคลผู้แสดงศิลปะ" เกอิชายังมีชื่อเรียกอื่นว่า เกโกะ (芸子) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเกอิชาในแถบญี่ปุ่นตะวันตก รวมถึงเกียวโตด้วย


เกโกะ (Geiko)

     เกอิชาฝึกหัด จะเรียกว่า ไมโกะ (舞妓 แปลว่า เด็กเต้นรำ) หรือฮังกโยขุ (半玉 แปลว่า อัญมณีซีกหนึ่ง หมายความถึงเงินค่าจ้างที่ได้รับของฮังกโยขุจะน้อยกว่าเกอิชาเต็มตัวครึ่งหนึ่ง) การแต่งหน้าด้วยแป้งขาว กิโมโนที่สวยงาม และทรงผมของไมโกะ ถือได้ว่าเป็นรูปลักษณ์ยอดนิยมที่ผู้คนจะนึกถึงเมื่อกล่าวถึงเกอิชา การจะเข้าสู่วิถีของเกอิชาได้นั้นอาจเริ่มด้วยการเป็นไมโกะ หรือจะเป็นเกอิชาเลยก็ได้ แต่ก่อนจะเริ่มทั้งสองทางที่กล่าวมาได้นั้น มักมีการเตรียมพร้อม โดยให้ฝึกฝนศาสตร์แขนงนี้ก่อนประมาณหนึ่งปี เรียกว่า "ชิโคมิ (仕込み)" หลังจากนั้น หญิงสาวที่อายุมากกว่า 21 ปี จะได้รับการเปิดตัวในฐานะเกอิชาเต็มตัว โดยไม่ต้องผ่านขั้นไมโกะก่อน

     ปัจจุบัน โดยเฉลี่ยแล้ว เกอิชาในโตเกียวจะเริ่มฝึกฝนกันเมื่ออายุได้ 18 ปี และที่เกียวโตจะเริ่มเมื่ออายุ 15 ปี แต่สมัยก่อน สำนักจะเริ่มฝึกฝนเด็กเพื่อเป็นเกอิชาตั้งแต่อายุยังน้อยมากๆ อาจน้อยถึง 3-5 ปีเลยทีเดียว

     เป็นที่ทราบดีกันว่า เกอิชา จะอาศัยแยกอยู่ในโลกที่ยังคงเป็นความลับ แม้กระทั่งกับคนญี่ปุ่นเอง เรียกว่า "Karyuukai" หรือ "ดอกไม้และต้นหลิว" เนื่องจากสมัยก่อน โอยรันคือดอกไม้ และเกอิชาก็คือต้นหลิว เพราะความแข็งแกร่ง ความสง่างาม และความเรียบง่ายกว่าของพวกเธอ

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น