วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #2: รูปแบบและการผลิตกิโมโน

     กิโมโนสำหรับผู้ชายถูกออกแบบมาให้มีความยาวถึงข้อเท้า โดยไม่ต้องพับไว้ที่เอว ในขณะที่กิโมโนของผู้หญิงจะมีความยาวมากกว่า เพื่อให้เอื้อต่อ “Ohashori (おはしょり)” การพับกิโมโนเป็นชั้นเล็กๆ สังเกตได้ที่ใต้โอบิ ทำเช่นนี้เพื่อให้กิโมโนสามารถเข้าได้กับความสูงของผู้สวมใส่ และกิโมโนที่ตัดมาอย่างดี เมื่อปล่อยแขนลงข้างตัวตามธรรมชาติแล้วแขนกิโมโนจะต้องยาวมาถึงข้อมือ
ยูคาตะผู้ชาย สวมโดยไม่ต้องพับเป็นชั้นใต้โอบิ
“Ohashori (おはしょり)
การพับกิโมโนเป็นชั้นเล็กๆ ใต้โอบิของผู้หญิง

     กิโมโนแบบต้นฉบับจริงๆ ผลิตมาจากผ้าม้วน เรียกว่า “Tan 
(反)” ซึ่งโดยประมาณแล้ว จะกว้าง 36 เซนติเมตร และยาว 11.5 เมตร ทั้งหมดนี้ถือเป็น 1 ม้วน ที่ใช้ผลิตกิโมโนได้เพียงตัวเดียว โดยกิโมโนตัวหนึ่ง หลักๆ แล้วประกอบไปด้วยผ้า 4 แถบ ส่วนตัว 2 ชิ้น ส่วนแขน 2 ชิ้น และยังมีผ้าชิ้นเล็กๆ ในส่วนด้านหน้าและคอปกอีก สมัยก่อนกิโมโนจะถูกแยกชิ้นเพื่อซักล้างแล้วนำมาประกอบด้วยการเย็บอีกครั้งภายหลัง เพราะการทำกิโมโนจะไม่มีการตัดแยกชิ้นผ้า ทำให้สามารถเย็บใหม่และปรับขนาดให้เข้ากับผู้สวมใส่ได้ง่ายกว่าปัจจุบัน

     ความกว้างของแขนกิโมโนถูกจำกัดด้วยความกว้างของผ้า Tan ระยะจากกลางหลังจนถึงปลายแขนไม่ควรเกินสองเท่าของผ้า ซึ่งโดยปกติแล้ว Tan สำหรับทำกิโมโนจะมีความกว้างไม่เกิน 36 เซนติเมตร(14 นิ้ว) ดังนั้นความยาวจากกลางหลังถึงปลายแขนก็ไม่ควรเกิน 68 เซนติเมตร ปัจจุบัน ผ้าสำหรับเย็บเป็นกิโมโนสมัยใหม่ถูกทอให้มีความกว้างถึง 42 เซนติเมตร เพื่อให้เข้ากับรูปร่างของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน สำหรับคนที่สูงหรืออ้วนมาก เช่น นักซูโม่ ต้องสั่งผลิตกิโมโนเองเพื่อให้เข้ากับรูปร่างของตน

     สมัยก่อนการเย็บกิโมโนต้องทำด้วยมือ แม้แต่ในปัจจุบันที่มีเครื่องทุ่นแรงอย่างจักรเย็บผ้าแล้ว ก็ยังมีส่วนบางส่วนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเย็บด้วยมือเท่านั้น ส่วนใหญ่ลายบนผ้า Tan ก่อนนำมาเย็บเป็นกิโมโน จะถูกสร้างสรรค์ลายด้วยมือ เช่น การย้อมสีแบบ “Yuzen 
(友禅)” โดยการย้อมและแต่งแต้มสีลงบนผ้าด้วยเทคนิคพิเศษ และใช้สารกั้นสีเพื่อสร้างลวดลาย นอกจากนั้น อาจมีการเพิ่มลายจากทอง การพิมพ์ลายฉลุ หรือแม้แต่การปัก และยังสามารถใช้เทคนิคนี้กับโอบิ อีกหนึ่งสิ่งคู่กับกิโมโนที่เป็นที่รู้จักกันมากไม่แพ้กัน

กรรมวิธีของ Yezen (友禅)
By: CHISOYUZEN1555 on Youtube


     กิโมโนและโอบิ แต่เดิมมักผลิตมาจากป่าน ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้าเครป และผ้าซาติน ในปัจจุบัน กิโมโนสมัยใหม่มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ถูกลง และผลิตจากผ้าที่ดูแลง่ายขึ้น เช่น ผ้าไหมสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ผ้าโพลีเอสเตอร์และเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ แต่ผ้าไหมก็ยังคงได้รับการยอมรับว่า เหมาะกับการใช้เย็บชุดกิโมโนมากที่สุด

     ในสมัย Heian นิยมสวมกิโมโนสีสันสดใสกว่าสิบสองชั้นหรือมากกว่านั้น พร้อมวิธีจัดสีให้เข้ากันหลากหลายรูปแบบ แต่ปัจจุบัน โดยปกติจะสวมกิโมโนเพียงชั้นเดียวทับชุดชั้นในที่มีลักษณะคล้ายกับกิโมโนชั้นนอกเช่นกัน และยังมีการกำหนดลวดลายบนกิโมโน ที่เหมาะกับฤดูกาลต่างๆ เช่น ลายผีเสื้อและดอกซากุระสำหรับฤดูใบไม้ผลิ ลายน้ำหรือคลื่นสำหรับฤดูร้อน ลายใบเมเปิลสีแดงหรือส้มสดสำหรับฤดูใบไม้ร่วง ลายกิ่งไผ่ สน และดอกบ๊วยสำหรับฤดูหนาว เป็นต้น

     อีกหนึ่งลายที่เป็นที่นิยมคือลาย “Shibori 
(絞り)” ซึ่งกิโมโนและ Haori (羽織) ที่มีลายนี้จะมีราคาสูงกว่าปกติ ลายนี้สร้างขึ้นโดยการมัดย้อมผ้าที่ปิดบางส่วนไว้ด้วยตัวกั้นสีเพื่อสร้างลวดลาย จากนั้นนำไปย้อมสี ลาย Shibori สามารถสร้างโดยวิธี Yuzen ได้ด้วยการวาดลายด้วยมือ นิยมเป็นลายดอกไม้ อาจย้อมสีหรือปักลงบนผ้า เพื่อเพิ่มความสวยงาม วิธีนี้เรียกว่า “Tsujigahana Shibori (辻が花絞り)” เป็นลายที่สวยงามมาก แต่ต้องใช้เวลาทำนานมาก และต้องอาศัยทักษะอย่างสูง ดังนั้นสิ่งทอหรือเสื้อผ้าที่สร้างลวดลายด้วยวิธีนี้จึงราคาสูง และมีค่ามาก

     กิโมโนเก่ามักถูกนำมาผลิตใหม่ให้เป็น Haori, Hiyoku 
(比翼) หรือกิโมโนสำหรับเด็ก นอกจากนั้นยังสามารถนำมาผลิตเป็นกิโมโนใหม่ที่คล้ายกัน กระเป๋าถือ อุปกรณ์สำหรับใช้สวมกิโมโน หรือแม้กระทั่งห่อใส่อุปกรณ์ในพิธีชงชา กิโมโนที่มีตำหนิมากจากการใช้จะถูกนำมาแยกชิ้นส่วนแล้วเย็บใหม่โดยซ่อนจุดตำหนิไว้ และหากมีตำหนิหรือเลอะต่ำกว่าเอวลงไป กิโมโนตัวนั้นก็สามารถนำมาใส่คู่กับ Hakama (袴) ได้ เพราะ Hakama ที่ใส่อยู่ข้างนอกจะช่วยปิดรอยตำหนิได้


Hakama (袴) ลักษณะคล้ายกางเกงขายาว

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น