วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #4: Chankonabe

     Chankonabe (ちゃんこ鍋) คืออาหารญี่ปุ่นที่ใช้วิธีต้มหรือตุ๋น นักซูโม่ทั่วไปนิยมทานอาหารจานนี้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก Chankonabe ประกอบไปด้วยซุปดะชิหรือซุปจากไก่ เพิ่มรสชาติด้วยยสาเกหรือมิริง เมนูนี้ไม่มีวิธีทำตายตัว เพราะทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับว่าเรามีอะไรที่ใช้ประกอบอาหารได้บ้าง และยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นยอด ทั้งจากไก่ ปลา เต้าหู้ ผักหลากชนิด หรือแม้แต่เนื้อวัว

Chankonabe

ตำรับ Chankonabe
สำหรับ 4 ที่

วัตถุดิบ

วัตถุดิบหลัก
     1. ซูปดะชิ 1 ถ้วย
     2. ซีอิ๊ว 4 ช้อนโต๊ะ
     3. สาเก 4 ช้อนโต๊ะ
     4. มิริง 4 ช้อนโต๊ะ
     5. เกลือ 1½ ช้อนชา
     6. วุ้นเส้น
     7. ไก่บด 230 กรัม
     8. ต้นหอมหั่น ½ ถ้วย
     9. ขิงขูด 1 ช้อนชา
     10. เนื้อหมูหั่นบาง 300 กรัม
     11. ผักกาดขาว ½ หัว (หั่นกว้างประมาณ 2 นิ้ว)
     12. ต้นหอมญี่ปุ่น 2 ต้น (หั่นเฉียง)
     13. ตั้งโอ๋ 1 กำ (หั่นยาว 2 นิ้ว)
     14. เต้าหู้ 1 ก้อน (หั่นกว้าง 1 นิ้ว)
     15. เห็ด Shimeji 1 กลุ่ม
     16. เห็ด Enoki 1 กลุ่ม
     17. แครอท 1 หัว (หั่นเป็นรูป เช่น ดอกไม้)


สำหรับซุป Zosui
     1. ซุปดะชิ 4 ถ้วย
     2. ข้าวสุก 2-3 ถ้วย
     3. ไข่ 2 ใบ
     4. ต้นหอมหั่น

วิธีทำ
     1. ต้มซุปดะชิ ซีอิ๊ว สาเก มิริง และเกลือ 1 ช้อนชา ผสมในหม้อ แล้วเก็บไว้ให้ยังร้อนอยู่
     2. แยกวุ้นเส้นออกจากกันด้วยการนำไปแช่ในน้ำสะอาด ต้ม 2 นาที แล้วแยกวุ้นเส้นขึ้นจากน้ำ
     3. ผสมไก่บด ต้นหอมหั่น ขิงขูด และเกลือ ½ ช้อนชา ในชาม
     4. ปั้นลูกชิ้นจากไก่บดที่ผสมแล้วในข้อ 3 ขนาดประมาณช้อนโต๊ะ แล้วใส่ลงไปในซุปจากข้อ 1 จากนั้นใส่ผักทั้งหมดและเนื้อหมู ก่อนต้ม 10-15 นาที
     5. ก่อนรับประทาน ให้ใส่วุ้นเส้นลงไปในหม้อ ต้ม 2 นาที
     6. หากจะทำซุป Zosui ให้นำวัตถุดิบทั้งหมดออกจากหม้อ เหลือไว้เพียงน้ำซุป (อาจเพิ่มซุปดะชิหรือน้ำเปล่า หากต้องการปริมาณที่มากขึ้น) ใส่ข้าวสุก แล้วต้มจนข้น จากนั้นตอกไข่ใส่ลงไป ตามด้วยต้นหอมหั่น
     7. ต้มต่อไปประมาณ 1 นาที จากนั้นตักลงเสิร์ฟ


Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Japanesecooking101

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #4: Furisode กิโมโนแขนยาว


     กิโมโน Furisode (振袖) คือกิโมโนประเภทหนึ่งสามารถแยกออกจากประเภทอื่นได้ง่ายด้วยความยาวแขนที่มากกว่า สำหรับ Kofurisode (小振袖) แขนมักยาวประมาณ 85 เซนติเมตร และสามารถยาวได้มากถึง 114 เซนติเมตรสำหรับ Oufurisode (大振袖) โดยส่วนแขนกับส่วนตัวของกิโมโนไม่ได้ติดกันยาวตลอด แต่จะเว้นช่องเล็กๆ สำหรับสอดแขนเท่านั้น แล้วปล่อยแขนด้านในที่เหลือให้เป็นส่วนเปิด ทำให้สามารถมองเห็นกิโมโนซับในผ่านช่องนี้ได้

     กิโมโน Furisode สวมโดยหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และถือว่าเป็นกิโมโนประเภทที่สุภาพที่สุด ทั้งยังถูกผลิตจากผ้าไหมความประณีต ส่วนมากกิโมโนประเภทนี้จะถูกซื้อหรือเช่าจากร้านโดยผู้ปกครองเพื่อนำไปให้ลูกสาวของพวกเขาสวมใส่ในพิธี Seijin no Hi (成人の日) เพื่อเฉลิมฉลองการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของเด็กหญิงเมื่ออายุ 20 ปี โดยการสวมกิโมโน Furisode ในงาน เป็นการบอกเป็นนัยว่า พวกเธอยังโสดอยู่และเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งก็แปลว่าพร้อมจะแต่งงานแล้วด้วย 

     กิโมโน Furisode มีต้นกำเนิดมาจากเสื้อผ้าของเด็กชนชั้นสูงทั้งชายและหญิงในช่วงยุคกลางของ ค.ศ.1500 ซึ่งสมัยนั้นผู้ใหญ่จะไม่สวมกิโมโนประเภทนี้ แรกๆ กิโมโน Furisode มีแขนสั้นเหมือนกิโมโนทั่วไป และใช้สวมกันทุกวัน โดยเวลาอันยาวนานที่ผ่านไปได้ทำให้แขนของกิโมโนประเภทนี้ยาวขึ้นมาก และนิยมสวมกันเฉพาะในโอกาสพิเศษ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เด็กผู้ชายก็สวมกิโมโนแขนยาวนี้เช่นกัน โดยจะสวมจนถึงอายุ 18 ก่อนร่วมพิธีเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (Seijin no Hi : 成人の日) ส่วนเด็กหญิงจะสวมจนถึงอายุ 20 ก่อนแต่งงานหลังร่วมพิธีเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เช่นกัน ระยะแรกกิโมโนของเด็กหญิงและชายไม่ต่างกันมากนัก แต่หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็เริ่มมีความแตกต่าง โดยกิโมโนของเด็กหญิงจะมีลายและสีที่สดใส ฉูดฉาดกว่าของเด็กชาย ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 กิโมโน Furisode นี้ถูกสวมใส่เฉพาะผู้หญิง อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ที่มีการแบ่งแยกเพศเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างชัดเจนด้วยเครื่องแต่งกาย และเนื่องด้วยความเกี่ยวข้องของกิโมโนประเภทนี้กับเด็กหญิงมากกว่าวัยผู้ใหญ่ กิโมโน Furisode จึงได้ถูกแยกออกจากิโมโนแขนสั้น (Kosode : 小袖) ทั่วไป

     ปัจจุบัน แม้กิโมโน Furisode นี้จะไม่ได้ใช้สวมใส่บ่อยๆ เหมือนแต่ก่อนแต่ก็ยังใช้สวมในงานพิเศษ เช่น ในพิธีชงชา หรืองานแต่งงาน และด้วยราคาที่สูงขึ้นมาก ทำให้หญิงสาวหลายคนเลือกที่จะเช่ามามากกว่าซื้อในราคาเต็ม

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #3: Hanagasa (Gion Kobu)

เพลง : Hanagasa (花笠)
แบบฉบับ : Gion Kobu

By: Kei Gekiku on Youtube

ไมโกะ Marika จากโอกิยะ Tsurui

By: Kei Gekiku on Youtube
ไมโกะ Ichiharu จากโอกิยะ Nakagishi
และไมโกะ Katsusen จากโอกิยะ Odamoto

By: asa1bann2 on Youtube
เกโกะ Mahiroจากโอกิยะ Mi no Yae
และเกโกะ Terukoma จากโอกิยะ Tsurui

Fumiou, Tai Sakura Okiya

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #3: วิวัฒนาการของเกอิชา

     เกอิชาที่ทำงานอยู่ในสถานเริงรมย์มีข้อห้ามในการขายบริการทางเพศอย่างเด็ดขาด เพื่อให้เป็นที่แบ่งแยกชัดเจนกับ Oiran (花魁) หญิงคณิกาเหล่านี้สามารถมีสัมพันธ์กับแขกได้อย่างถูกต้องเพราะมีการอนุญาติกันอย่างเป็นทางการ ในขณะที่เกอิชาจะมีส่วนเล็กๆ ที่สามารถใช้แบ่งออกจากหญิงคณิกาได้ โดยเปรียบเกอิชาเสมือนเป็นศิลปินหญิงผู้คงแก่เรียน

     ในช่วง ค.ศ.1800 เกอิชาดูเหมือนจะเป็นอาชีพสำหรับผู้หญิง แม้ว่าจะมีเกอิชาชายอยู่จำนวนเล็กน้อยมากก็ตาม ในที่สุดการแต่งกายของ Oiran ที่สุดแสนจะฉูดฉาดก็ไม่ถือเป็นแฟชั่นเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป เพราะถูกเกอิชาที่แต่งตัว “เก๋” กว่าเข้ามาแทนที่ ต่อมาในปี ค.ศ.1830 การแต่งกายเยี่ยงเกอิชากลายเป็นที่นิยม ส่งผลให้หญิงแทบทั่วไปในสังคมแต่งกายเลียนแบบพวกเธอ โดยบนวิถีของเกอิชานั้นมีประเภทและระดับชั้นหลากหลายมาก จึงมีบางกลุ่มขายบริการทางเพศ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำเช่นนั้น แต่เพียงแสดงศิลปะที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างเคร่งครัด จนถึงปี ค.ศ. 1900 การค้าประเวณีก็ไม่เป็นสิ่งถูกกฎหมายอีกต่อไป

     สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความเสื่อมถอยในสังคมเกอิชาในญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะหญิงหลายคนต้องเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานหรืองานอื่นแทน และสงครามยังส่งผลต่อชื่อเสียงของพวกเธอ หลายคน โดยเฉพาะทหารอเมริกันเข้าใจพวกเธอผิด และนำพวกเธอไปรวมกับคำว่า “หญิงคณิกา” ทั้งๆ ที่นั่นไม่ใช่ความจริง ต่อมาในปี ค.ศ.1944 โลกของเกอิชา หมายความรวมถึงโรงน้ำชา สถานให้ความบันเทิงทางศิลปะ และสำนักเกอิชา (โอกิยะ : 置屋) ถูกสั่งปิด ทุกคนในสายอาชีพนี้จึงต้องหันไปทำงานในโรงงานแทน แต่หลังจากนั้นประมาณปีหนึ่งก็ถูกยกเลิกคำสั่งปิด ทำให้พวกเขาเริ่มมาเปิดกิจการเกี่ยวกับเกอิชากันอีกครั้ง และหลายคนที่กลับไปทำงานเกอิชานั้นได้มีความคิดต่อต้านอิทธิพลตะวันตก แล้วหันหลังกลับมาใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ภาพลักษณ์ของเกอิชาถูกสร้างขึ้นในสังคมศักดินาสมัยโบราณของญี่ปุ่น และภาพลักษณ์เหล่านี้นั่นเอง ที่พวกเธอต้องการรักษาให้คงอยู่ไว้ต่อไป

     หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงคราม เหล่าเกอิชาต่างแยกย้ายกันไป ทำให้อาชีพนี้ตกอยูในวิกฤติ แต่ก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในช่วง ค.ศ.1960 และส่งผลให้อาชีพเกอิชากลับมาเจริญอีกครั้งในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังลุกขึ้นมาเติบโตอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือเด็กหญิงจะไม่ถูกขายหรือถูกบังคับแต่อย่างใด แต่ชีวิตของพวกเธอหรือแม้แต่ชีวิตรักก็จะเป็นไปตามแต่ใจพวกเธอจะปรารถนา

เกโกะฝึกหัด (ไมโกะ : 舞妓)

     มีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นมากมายในช่วงสงคราม ไมโกะ (เกโกะฝึกหัด) ถูกเข้าใจว่าจะต้องมีการประมูลเพื่อซื้อความบริสุทธิ์ของพวกเธอ (Mizuage) อันเนื่องมาจากความสับสนระหว่างพิธีของไมโกะและ yuujo (คณิกาฝึกหัด) ซึ่งพิธีซื้อความบริสุทธิ์นี้กลายเป็นสิ่งกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ.1959 เป็นต้นมา และกฎหมายการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 ยังทำให้การฝึกฝนเกอิชาแบบดั้งเดิมยากขึ้นด้วย เพราะแต่ก่อน การฝึกฝนเด็กหญิงเพื่อเป็นเกอิชาจะเริ่มตั้งแต่เล็กๆ (อาจจะตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ขวบด้วยซ้ำ) ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถทำได้

     โลกของเกอิชาแม้จะยังคงเป็นเรื่องลึกลับแม้กับชาวญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีหนังสือเกี่ยวกับเกอิชามากมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือของ Mineko Iwasaki เธอกล่าวว่า “ฉันอาศัยอยู่ในโลกของเกอิชา (Karyuukai : 花柳界) ประมาณระหว่างปี ค.ศ.1960 ถึง 1970 แม้ช่วงนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากสังคมโบราณสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ฉันก็ยังคงอาศัยอยู่ในสังคมที่ถูกแยกออกต่างหาก ที่ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการรักษาวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมของเราไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป”

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #3: Champon

     Champon (ちゃんぽん) หรือ Chanpon เป็นอาหารประเภทเส้นที่ขึ้นชื่อของเมือง Nagasaki ซึ่งมีหลายแบบ หลายรสชาติแตกต่างกันไปในประเทศเกาหลีและจีนด้วย แต่เดิม เมนูนี้สร้างจากแรงบันดาลใจจากอาหารจีน โดย Champon ทำมาจากเนื้อหมูทอด อาหารทะเล ผัก และน้ำมันหมู ราดด้วยน้ำซุปที่เคี่ยวมาอย่างดีด้วยกระดูกหมูและไก่ ใส่เส้นราเมงที่ทำมาเฉพาะสำหรับ Champon ลงไปแล้วต้ม ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมือนกับการทำราเมงทั่วไป ที่ลวกเส้นก่อนแล้วจึงนำมาใส่ในน้ำซุป รสชาติของ Champon จะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล สถานที่ และเวลาในแต่ละช่วงของแต่ละปี

     Champon ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือของเมือง Nagsaki ในจังหวัด Nagasaki และยังมีแบบที่ทำจากซอสถั่วเหลืองของเมือง Tottori จังหวัด Shimane ที่เรียกว่า Ankake no Champon ในจังหวัด Okinawa เมนู Champon เป็นข้าวที่ใส่ผักหลายชนิด เนื้อสัตว์หั่นบาง (หมูหรือเนื้อ) และตกแต่งหน้าด้านบนด้วยไข่คน



Champon


ตำรับ Champon
สำหรับ 2 ที่

วัตถุดิบ
สำหรับน้ำซุป
     1. ซุปราเมงแบบเข้มข้น 4 ช้อนโต๊ะ
     2. มิริง 2 ช้อนโต๊ะ
     3. ซีอิ๊ว 2 ช้อนโต๊ะ
     4. ขิงบด (Ginger paste) 1 ช้อนโต๊ะ
     5. พริก Tobanjan 1 ช้อนชา
     6. ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ


สำหรับส่วนโรยหน้า
     1. เส้น Champon 150 กรัม
     2. เนื้อหมูหั่นบางๆ 40 กรัม
     3 กุ้ง 2 ตัว
     4. ปลาหมึกหั่น 25 กรัม
     5. Kamaboko หั่น 2 ชิ้น
     6. กะหล่ำปลี 60 กรัม
     7. ถั่วงอก 50 กรัม
     8. แครอท ¼ หัว
     9. ต้นหอม 2 ต้น
     10. น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร
     11. เกลือ
     12. พริกไทย
     13. พริก [ตัวเลือก]
     14. น้ำมันพริก [ตัวเลือก]

วิธีทำ
     1. เตรียมวัตถุดิบ เริ่มจากล้างปลาหมึกให้สะอาด แล้วหั่นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมหั่นเบาๆ เป็นรูปกากบาทด้านหนึ่ง แต่ไม่ต้องขาด จากนั้นหั่นกะหล่ำปลีเป็นชิ้นหนา หั่นแครอทเป็นแท่งๆ หั่นต้นหอม และหั่น Kamaboko เป็นแว่นๆ สำหรับตกแต่งหน้าตอนเสิร์ฟ
     2. เทน้ำ 400 มิลลิลิตรลงในกระทะ (หรือหม้อ) ค่อยๆ เคี่ยวให้เดือด แล้วใส่ส่วนผสมสำหรับน้ำซุปที่เหลือลงไป คนให้เข้ากัน และพักส่วนนี้ไว้ก่อน
     3. เทน้ำมันลงในกระทะอีกใบเล็กน้อย รอให้น้ำมันร้อน และนำเนื้อสัตว์และอาหารทะเลทั้งหมดลงทอดจนเกือบสุกเต็มที่ ใส่ผักและ Kamaboko ที่หั่นไว้ตามลงไป พยายามทำให้สุกทั่วกัน แล้วปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย
     4. เทซุปที่ทำไว้แล้วลงไป แล้วคนให้เข้ากันอย่าให้ส่วนผสมจับตัวกัน
     5. รอให้ซุปและส่วนผสมข้างต้นเดือดในระดับหนึ่ง (ไม่ต้องเดือดมาก) แล้วใส่เส้นลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาทีครึ่งก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย โรยหน้าด้วยต้นหอมหั่นที่เหลือ อาจเพิ่มความเผ็ดด้วยพริกหรือน้ำมันพริกตามชอบ
Fumiou, Tai Sakura Okiya

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Japancentre

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #3: ส่วนต่างๆ ของกิโมโน



     Dōura (胴裏) ซับในส่วนบนในกิโมโนผู้หญิง
     Eri (衿) คอปก
     Fuki (袘) ส่วนที่เย็บติดกันด้านล่าง
     Sode (袖) แขนกิโมโน
     Obi (帯) ผ้าผืนยาว ลักษณะคล้ายเข็มขัด ใช้รัดกิโมโนให้แน่น และใช้รักษา Ohashori ในกิโมโนผู้หญิงด้วย
     Maemigoro (前身頃) ชิ้นส่วนหลักด้านหน้า แบ่งเป็นสองชิ้นคือ ชิ้นซ้ายและชิ้นขวา
     Miyatsukuchi (身八つ口) ส่วนเปิดใต้ช่องแขน
     Okumi (衽) ชิ้นผ้าที่ใช้ต่อด้านหน้าตัวกิโมโนทั้งด้านซ้ายและขวา ยาวจากคอปก ลงไปจนถึงด้านล่าง
     Sodeguchi (袖口) ส่วนเปิดปลายแขนสำหรับสอดมือผ่าน
     Sodetsuke (袖付) ช่องระหว่างตัวกิโมโนกับแขนสำหรับสอดแขนผ่าน
     Susomawashi (裾回し) ซับในส่วนล่าง
     Tamoto (袂) ส่วนที่ห้อยลงมาของแขนคล้ายกระเป๋า
     Tomoeri (共衿) คอปกชั้นที่สอง ทับ Eri (衿)
     Uraeri (裏襟) คอปกส่วนด้านใน
     Ushiromigoro (後身頃) ส่วนหลักของกิโมโนที่อยู่ด้านหลัง(ไม่รวมแขน) โดยปกติถ้าเป็นผ้าธรรมดาจะเย็บติดกันสองชิ้น ชิ้นซ้ายและขวา แต่ถ้าเป็นขนสัตว์จะตัดให้เป็นชิ้นเดียวกันเลยตั้งแต่แรก

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #2: Harusame (Gion Kobu)

เพลง : Harusame (春雨)
แบบฉบับ : Gion Kobu

By: bamboo on Youtube
ไมโกะ Koyoshi จากโอกิยะ Nakagishi


By: Tsutomu Uchida on Youtube
เกโกะ Satsuki จากโอกิยะ Tsurui

By: hat chibikuro on Youtube
ไมโกะ Shino จากโอกิยะ Fukushima
ไมโกะ Masaki จากโอกิยะ Mi no Yae
และไมโกะ Kiyono จากโอกิยะ Fukushima
**เพลงแรกคือเพลง Harusame เพลงที่สองคือเพลง Gion Kouta**

Fumiou, Tai Sakura Okiya


วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #2: ต้นกำเนิดของเกอิชา

     ในช่วงต้นๆ ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นนั้น มีหญิงผู้ให้ความบันเทิง เรียกว่า “Saburuko” อยู่แล้ว ในหมู่ Saburuko มีเพียงบางคนขายบริการทางเพศ ในขณะที่คนที่มีการศึกษาบ้างจะเลี้ยงชีพด้วยเงินจากการแสดงศิลปะชั้นสูงเท่านั้น และหลังจากมีการย้ายเมืองหลวงไปยัง Heian-kyou (平安京: เกียวโต) ในปี ค.ศ.794 ปัจจัยที่ทำให้เกอิชาถือกำเนิดขึ้น คือวัฒนธรรมในยุคที่ความงามถูกยกให้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่าใคร “ดี” หรือไม่ นั่นทำให้หญิงผู้ให้ความบันเทิง และมีทักษะเพียงพอ เช่น นักรำ Shirabyoushi (白拍子) และอื่นๆ รุ่งเรืองขึ้นอย่างมาก

Shirabyoushi (白拍子)
By: juraihelm

     วัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม มีความชื่นชอบในเรื่องทางเพศในระดับหนึ่ง เพราะไม่มีข้อห้ามกล่าวไว้ในลัทธิชินโตซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจหลักของชาวญี่ปุ่นสมัยนั้น ผู้ชายไม่ถูกจำกัดอยู่ภายใต้ความซื่อสัตย์ต่อภรรยา ภรรยาในอุดมคติจะต้องมีความเจียมเนื้อเจียมตัวและต้องคอยดูแลบ้าน อีกประการหนึ่ง ด้วยความเชื่อของลัทธิขงจื๊อ ความรักไม่ได้มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเพียงแค่สำหรับความสุขทางเพศ ผู้ชายสมัยนั้นเลือกที่จะไปหาหญิงโสเภณีมากกว่าภรรยาของตัวเอง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เกิดสถานบันเทิงที่รู้จักกันในชื่อ “Yuukaku(遊郭)” ขึ้น และในปี ค.ศ.1617 ภายใต้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ การค้าประเวณีจะต้องได้รับอนุญาติก่อน หญิงค้าประเวณีสมัยนั้นที่เป็นต้นแบบของเกอิชาในปัจุบัน คือ “Tayuu (太夫)” ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดของโสเภณีธรรมดาที่เรียกว่า “Yuujo (遊女)” หนึ่งในศิลปะที่พวกเธอแสดงก็คือการรำและละครสั้นที่มีแนวเสียดสีชีวิตรักบนเตียงของคนสมัยนั้น และนี่ก็เป็นจุดกำเนิดของ “Kabuki (歌舞伎)” การแสดงของชาวญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกในปัจจุบัน


Tayuu (太夫)

การถือกำเนิดของเกอิชา ในคริสต์ศตวรรษที่ 18

     สถานบันเทิงเหล่านี้ ขยายตัวไปสู่ศูนย์รวมความบันเทิงอันหรูหราอย่างรวดเร็ว โดยมีจุดเด่นคือการบริการมากกว่าเรื่องทางเพศ คือมีการแสดงศิลปะชั้นสูงร่วมด้วย หญิงคณิการะดับสูงมักให้ความบันเทิงแขกของพวกเธอด้วยการร้องเพลง รำ และเล่นดนตรี บางคนก็เขียนอักษรด้วยพู่กันได้อย่างสวยงาม หรือรู้จักบทกวีต่างๆ ด้วย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผู้ให้ความบันเทิงจริงๆ ด้วยศิลปะก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีชื่อเรียกว่า “เกอิชา” แต่ก่อน ในยุคแรกของสังคมเกอิชา พวกเขาไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นผู้ชาย ที่มีหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่แขกด้วยศิลปะ

     ผู้ที่เบิกทางให้ผู้หญิงได้มีฐานะเกอิชาในสังคมก็คือนักแสดงวัยรุ่นที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีและอย่างแพง เรียกว่า “Odoriko (踊り子)” (Odori = รำ, Ko = เด็ก) ช่วง ค.ศ.1680 เหล่า Odoriko นี่เองที่ได้รับความนิยมในการจ้างไปแสดงส่วนตัวในบ้านของซามุไรระดับสูง แม้ว่าต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 จะมีหลายคนหันไปค้าประเวณีแทนก็ตาม ในยุคนั้น เมื่อ Odoriko เริ่มมีอายุมากขึ้นและไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ต่อไป หญิงเล่านั้นจึงได้รับชื่อ “เกอิชา” ตามผู้ให้ความบันเทิงที่เป็นชายมา ประมาณปี ค.ศ.1750 หญิงคนแรกที่เรียกตัวเองว่าเกอิชา อยู่ในเขต Fukagawa (深川) แหล่งหญิงคณิกาที่โด่งดัง เธอมีชื่อว่า “Kikuya” ผู้มีความสามารถด้านการร้องเพลงและเล่นชามิเซ็งสูงมาก เธอทำให้เหล่าเกอิชาหญิงที่เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในยุคนั้น อีกทั้งขณะที่พวกเธอกำลังโด่งดังขึ้นนั้น ก็มีหลายคนเริ่มหันมาให้ความบันเทิงแขกด้วยศิลปะ มากกว่าการค้าประเวณี ที่จะคอยให้บริการในแหล่งเดียวกับเกอิชาชายนั่นเอง

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia


วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #2: Ankimo

     Ankimo (鮟肝) คืออาหารญี่ปุ่นที่ทำมาจากตับของปลา Monkfish ที่ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นอาหารอร่อยประจำฤดูหนาวของญี่ปุ่น และถูกจัดอยู่อันดับที่ 32 ในรายชื่ออาหาร 50 ชนิดที่อร่อยที่สุดในโลก ของ CNN Go เมื่อปี 2011
     ขั้นแรก ตับจะถูกนวดเข้ากับเกลือ แล้วล้างด้วยสาเก จากนั้นก็นำเส้นเลือดออก ม้วนเป็นกระบอกกลม แล้วนำไปนึ่ง Ankimo มักเสิร์ฟคู่กับ Momiji-oroshi(หัวไชเท้าขูดผสมพริก) ต้นหอมหั่นบางๆ และซอส Ponzu


Ankimo


ตำรับ Ankimo

ส่วนผสม
     1. ตับปลา Monkfish สด
     2. สาเก
     3. ซีอิ๊ว
     4. ซอส Ponzu
     5. เครื่องเคียงอื่นๆ เช่น ต้นหอมหั่นบางๆ
ส่วนผสมซอส Ponzu แบบทำเองที่บ้าน
     1. น้ำส้มสายชู 60 มิลลิลิตร
     2. น้ำส้มคั้น 60 มิลลิลิตร
     3. ซีอิ๊ว 90 มิลลิลิตร
     4. น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
     5. สาเก 3 ช้อนโต๊ะ
     6. น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา
*ผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน

วิธีทำ
     1. วางตับปลาลงในชาม แล้วล้างผ่านน้ำเย็นที่ไหลช้าๆ ตลอดเวลาประมาณ 10 นาที
     2. ล้างเลือดออกให้หมด แล้วตัดเส้นเลือดในตับออกให้ได้มากที่สุด ด้วยมีดเล็กและคม ในขั้นตอนนี้ถือว่าค่อนข้างยาก จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง
     3. วางตับที่ล้างสะอาดแล้วลงในชาม ใส่ซีอิ๊ว 1-2 ช้อนโต๊ะลงไป ค่อยๆ ทำให้ซีอิ๊วเคลือบจนทั่ว หมักไว้ 5 นาที ซีอิ๊วจะช่วยให้ตับเหม็นคาวน้อยลง
     4. ใช้สาเก 1/3-1/2 ถ้วย ล้างตับที่หมักแล้วเพื่อล้างซีอิ๊วออก
     5. ห่อตับด้วยฟอยล์ให้แน่นหนา แล้วนวดให้เป็นทรงกระบอก
     6. นำไปนึ่งในความร้อนสูง ประมาณ 5 นาที (เริ่มจับเวลาเมื่อน้ำเดือด) จากนั้นลดความร้อนให้อยู่ในระดับปานกลาง แล้วนึ่งต่ออีก 12-15 นาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของตับด้วย
     7. เมื่อนึ่งเสร็จให้นำไปแช่เย็นข้ามคืน เพื่อให้ตับคงรูปร่าง
     8. นำตับออกจากตู้เย็น เปิดฟอยล์ออก
     9. หั่นเป็นชิ้น ความหนาแล้วแต่ชอบ
     10. เสิร์ฟคู่กับซอส Ponzu ต้นหอมหั่น หรือ Momiji-oroshi(หัวไชเท้าขูดผสมพริก) ตามชอบ


Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Cooklikejapanese และ Wikipedia

วันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #2: รูปแบบและการผลิตกิโมโน

     กิโมโนสำหรับผู้ชายถูกออกแบบมาให้มีความยาวถึงข้อเท้า โดยไม่ต้องพับไว้ที่เอว ในขณะที่กิโมโนของผู้หญิงจะมีความยาวมากกว่า เพื่อให้เอื้อต่อ “Ohashori (おはしょり)” การพับกิโมโนเป็นชั้นเล็กๆ สังเกตได้ที่ใต้โอบิ ทำเช่นนี้เพื่อให้กิโมโนสามารถเข้าได้กับความสูงของผู้สวมใส่ และกิโมโนที่ตัดมาอย่างดี เมื่อปล่อยแขนลงข้างตัวตามธรรมชาติแล้วแขนกิโมโนจะต้องยาวมาถึงข้อมือ
ยูคาตะผู้ชาย สวมโดยไม่ต้องพับเป็นชั้นใต้โอบิ
“Ohashori (おはしょり)
การพับกิโมโนเป็นชั้นเล็กๆ ใต้โอบิของผู้หญิง

     กิโมโนแบบต้นฉบับจริงๆ ผลิตมาจากผ้าม้วน เรียกว่า “Tan 
(反)” ซึ่งโดยประมาณแล้ว จะกว้าง 36 เซนติเมตร และยาว 11.5 เมตร ทั้งหมดนี้ถือเป็น 1 ม้วน ที่ใช้ผลิตกิโมโนได้เพียงตัวเดียว โดยกิโมโนตัวหนึ่ง หลักๆ แล้วประกอบไปด้วยผ้า 4 แถบ ส่วนตัว 2 ชิ้น ส่วนแขน 2 ชิ้น และยังมีผ้าชิ้นเล็กๆ ในส่วนด้านหน้าและคอปกอีก สมัยก่อนกิโมโนจะถูกแยกชิ้นเพื่อซักล้างแล้วนำมาประกอบด้วยการเย็บอีกครั้งภายหลัง เพราะการทำกิโมโนจะไม่มีการตัดแยกชิ้นผ้า ทำให้สามารถเย็บใหม่และปรับขนาดให้เข้ากับผู้สวมใส่ได้ง่ายกว่าปัจจุบัน

     ความกว้างของแขนกิโมโนถูกจำกัดด้วยความกว้างของผ้า Tan ระยะจากกลางหลังจนถึงปลายแขนไม่ควรเกินสองเท่าของผ้า ซึ่งโดยปกติแล้ว Tan สำหรับทำกิโมโนจะมีความกว้างไม่เกิน 36 เซนติเมตร(14 นิ้ว) ดังนั้นความยาวจากกลางหลังถึงปลายแขนก็ไม่ควรเกิน 68 เซนติเมตร ปัจจุบัน ผ้าสำหรับเย็บเป็นกิโมโนสมัยใหม่ถูกทอให้มีความกว้างถึง 42 เซนติเมตร เพื่อให้เข้ากับรูปร่างของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน สำหรับคนที่สูงหรืออ้วนมาก เช่น นักซูโม่ ต้องสั่งผลิตกิโมโนเองเพื่อให้เข้ากับรูปร่างของตน

     สมัยก่อนการเย็บกิโมโนต้องทำด้วยมือ แม้แต่ในปัจจุบันที่มีเครื่องทุ่นแรงอย่างจักรเย็บผ้าแล้ว ก็ยังมีส่วนบางส่วนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องเย็บด้วยมือเท่านั้น ส่วนใหญ่ลายบนผ้า Tan ก่อนนำมาเย็บเป็นกิโมโน จะถูกสร้างสรรค์ลายด้วยมือ เช่น การย้อมสีแบบ “Yuzen 
(友禅)” โดยการย้อมและแต่งแต้มสีลงบนผ้าด้วยเทคนิคพิเศษ และใช้สารกั้นสีเพื่อสร้างลวดลาย นอกจากนั้น อาจมีการเพิ่มลายจากทอง การพิมพ์ลายฉลุ หรือแม้แต่การปัก และยังสามารถใช้เทคนิคนี้กับโอบิ อีกหนึ่งสิ่งคู่กับกิโมโนที่เป็นที่รู้จักกันมากไม่แพ้กัน

กรรมวิธีของ Yezen (友禅)
By: CHISOYUZEN1555 on Youtube


     กิโมโนและโอบิ แต่เดิมมักผลิตมาจากป่าน ผ้าลินิน ผ้าไหม ผ้าเครป และผ้าซาติน ในปัจจุบัน กิโมโนสมัยใหม่มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ถูกลง และผลิตจากผ้าที่ดูแลง่ายขึ้น เช่น ผ้าไหมสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย ผ้าโพลีเอสเตอร์และเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ แต่ผ้าไหมก็ยังคงได้รับการยอมรับว่า เหมาะกับการใช้เย็บชุดกิโมโนมากที่สุด

     ในสมัย Heian นิยมสวมกิโมโนสีสันสดใสกว่าสิบสองชั้นหรือมากกว่านั้น พร้อมวิธีจัดสีให้เข้ากันหลากหลายรูปแบบ แต่ปัจจุบัน โดยปกติจะสวมกิโมโนเพียงชั้นเดียวทับชุดชั้นในที่มีลักษณะคล้ายกับกิโมโนชั้นนอกเช่นกัน และยังมีการกำหนดลวดลายบนกิโมโน ที่เหมาะกับฤดูกาลต่างๆ เช่น ลายผีเสื้อและดอกซากุระสำหรับฤดูใบไม้ผลิ ลายน้ำหรือคลื่นสำหรับฤดูร้อน ลายใบเมเปิลสีแดงหรือส้มสดสำหรับฤดูใบไม้ร่วง ลายกิ่งไผ่ สน และดอกบ๊วยสำหรับฤดูหนาว เป็นต้น

     อีกหนึ่งลายที่เป็นที่นิยมคือลาย “Shibori 
(絞り)” ซึ่งกิโมโนและ Haori (羽織) ที่มีลายนี้จะมีราคาสูงกว่าปกติ ลายนี้สร้างขึ้นโดยการมัดย้อมผ้าที่ปิดบางส่วนไว้ด้วยตัวกั้นสีเพื่อสร้างลวดลาย จากนั้นนำไปย้อมสี ลาย Shibori สามารถสร้างโดยวิธี Yuzen ได้ด้วยการวาดลายด้วยมือ นิยมเป็นลายดอกไม้ อาจย้อมสีหรือปักลงบนผ้า เพื่อเพิ่มความสวยงาม วิธีนี้เรียกว่า “Tsujigahana Shibori (辻が花絞り)” เป็นลายที่สวยงามมาก แต่ต้องใช้เวลาทำนานมาก และต้องอาศัยทักษะอย่างสูง ดังนั้นสิ่งทอหรือเสื้อผ้าที่สร้างลวดลายด้วยวิธีนี้จึงราคาสูง และมีค่ามาก

     กิโมโนเก่ามักถูกนำมาผลิตใหม่ให้เป็น Haori, Hiyoku 
(比翼) หรือกิโมโนสำหรับเด็ก นอกจากนั้นยังสามารถนำมาผลิตเป็นกิโมโนใหม่ที่คล้ายกัน กระเป๋าถือ อุปกรณ์สำหรับใช้สวมกิโมโน หรือแม้กระทั่งห่อใส่อุปกรณ์ในพิธีชงชา กิโมโนที่มีตำหนิมากจากการใช้จะถูกนำมาแยกชิ้นส่วนแล้วเย็บใหม่โดยซ่อนจุดตำหนิไว้ และหากมีตำหนิหรือเลอะต่ำกว่าเอวลงไป กิโมโนตัวนั้นก็สามารถนำมาใส่คู่กับ Hakama (袴) ได้ เพราะ Hakama ที่ใส่อยู่ข้างนอกจะช่วยปิดรอยตำหนิได้


Hakama (袴) ลักษณะคล้ายกางเกงขายาว

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #1: Gion Kouta (Gion Kobu)

เพลง : Gion Kouta (祇園小唄)
แบบฉบับ : Gion Kobu

By: heavyloader12 on Youtube

ไมโกะ Masaki, ไมโกะ Makino จากโอกิยะ Mi no Yae
และไมโกะ Kyouka จากโอกิยะ Tsurui



By: asa1bann2 on Youtube
ไมโกะ Mamesaku และไมโกะ Mametomi จากโอกิยะ Arai




By: chipie2485 on Youtube

ไมโกะ Koyoshi จากโอกิยะ Nakagishi




Fumiou, Tai Sakura Okiya

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #1: เกอิชา คืออะไร

     เกอิชา (芸者: จริงๆ ควรออกเสียงว่า "เกฉะ") คือหญิงสาวผู้ให้ความบันเทิงและต้อนรับแขก ที่มีมาแต่สมัยโบราณ ทักษะของพวกเธอคืองานศิลปะ เช่น การรำ การร้องและบรรเลงเพลง จัดดอกไม้ หรือแม้กระทั่งการสนทนาก็ยังถือว่าเป็นทักษะที่พวกเธอได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

     ในสังคมไทย เมื่อกล่าวถึงคำว่า "เกอิชา" บางท่านอาจนึกถึงหญิงโสเภณีชาวญี่ปุ่น ที่ขายเรือนร่างบริการชาย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะที่จริงแล้ว พวกเธอมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความบันเทิงแขกด้วยศิลปะเท่านั้น ส่วนหญิงโสเภณีจริงๆ ในสมัยก่อน จะเรียกว่า "โอยรัน (花魁)"

     คำว่าเกอิชา ประกอบด้วยอักษรคันจิสองตัว ได้แก่ "芸(gei) ที่แปลว่า ศิลปะ" และ "者(sha) ที่แปลว่า บุคคล" เกอิชา จึงแปลว่า "บุคคลผู้แสดงศิลปะ" เกอิชายังมีชื่อเรียกอื่นว่า เกโกะ (芸子) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเกอิชาในแถบญี่ปุ่นตะวันตก รวมถึงเกียวโตด้วย


เกโกะ (Geiko)

     เกอิชาฝึกหัด จะเรียกว่า ไมโกะ (舞妓 แปลว่า เด็กเต้นรำ) หรือฮังกโยขุ (半玉 แปลว่า อัญมณีซีกหนึ่ง หมายความถึงเงินค่าจ้างที่ได้รับของฮังกโยขุจะน้อยกว่าเกอิชาเต็มตัวครึ่งหนึ่ง) การแต่งหน้าด้วยแป้งขาว กิโมโนที่สวยงาม และทรงผมของไมโกะ ถือได้ว่าเป็นรูปลักษณ์ยอดนิยมที่ผู้คนจะนึกถึงเมื่อกล่าวถึงเกอิชา การจะเข้าสู่วิถีของเกอิชาได้นั้นอาจเริ่มด้วยการเป็นไมโกะ หรือจะเป็นเกอิชาเลยก็ได้ แต่ก่อนจะเริ่มทั้งสองทางที่กล่าวมาได้นั้น มักมีการเตรียมพร้อม โดยให้ฝึกฝนศาสตร์แขนงนี้ก่อนประมาณหนึ่งปี เรียกว่า "ชิโคมิ (仕込み)" หลังจากนั้น หญิงสาวที่อายุมากกว่า 21 ปี จะได้รับการเปิดตัวในฐานะเกอิชาเต็มตัว โดยไม่ต้องผ่านขั้นไมโกะก่อน

     ปัจจุบัน โดยเฉลี่ยแล้ว เกอิชาในโตเกียวจะเริ่มฝึกฝนกันเมื่ออายุได้ 18 ปี และที่เกียวโตจะเริ่มเมื่ออายุ 15 ปี แต่สมัยก่อน สำนักจะเริ่มฝึกฝนเด็กเพื่อเป็นเกอิชาตั้งแต่อายุยังน้อยมากๆ อาจน้อยถึง 3-5 ปีเลยทีเดียว

     เป็นที่ทราบดีกันว่า เกอิชา จะอาศัยแยกอยู่ในโลกที่ยังคงเป็นความลับ แม้กระทั่งกับคนญี่ปุ่นเอง เรียกว่า "Karyuukai" หรือ "ดอกไม้และต้นหลิว" เนื่องจากสมัยก่อน โอยรันคือดอกไม้ และเกอิชาก็คือต้นหลิว เพราะความแข็งแกร่ง ความสง่างาม และความเรียบง่ายกว่าของพวกเธอ

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #1: Agedashi Doufu

     Agedashi doufu หรือ Agedashi tofu คืออาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ทำจากเต้าหู้อ่อนๆ เคลือบด้วยแป้งจากมันฝรั่ง แล้วลงทอดในน้ำมัน จึงมีความกรอบนอกนุ่มใน โดยปกติแล้วจะเสิร์ฟคู่กับหัวไชเท้าขูด, ปลา Bonito ฝอย, ต้นหอม และมีสาหร่ายหรือขิงขูดโรยหน้า แล้วราดด้วยซอส Tsuyu เพื่อเสริมให้รสชาติดีขึ้น หากคุณชอบรับประทานอาหารเผ็ดๆ ก็สามารถเติม Shichimi togarashi (เครื่องปรุงคล้ายพริกป่น) เพื่อความเผ็ดได้เช่นกัน ซึ่ง Agedashi doufu ที่ดีจะคล้ายกับคัสตาร์ด ที่ละลายกลายเป็นครีมในปากและมีกลิ่นของเครื่องปรุงรสตามมา

Agedashi Doufu

ตำรับ Agedashi Doufu
สำหรับ 3 จาน (10 ชิ้น)

ส่วนผสม
1. เต้าหู้ 400 กรัม
2. Katakuriko (แป้งมันฝรั่ง)
3. น้ำมันสำหรับทอด
4. ซีอิ๊ว 2 ช้อนโต๊ะ
5. มิริง 2 ช้อนโต๊ะ
6. สาเก 2 ช้อนโต๊ะ
7. ซุปดะชิ 2 ถ้วย (480 มิลลิลิตร)
8. ตันหอมหั่น
9. หัวไชเท้าขูด

วิธีทำ
     1. หั่นเต้าหู้พอคำให้ได้ 10 ชิ้น
     2. ต้มซีอิ๊ว มิริง สาเก และซุปดะชิในหม้อ เสร็จแล้วเก็บรักษาซอสนี้ไว้ให้ยังคงร้อนอยู่
     3. อุ่นน้ำมันด้วยความร้อนปานกลาง ชุปเต้าหู้ด้วยแป้งมันฝรั่งแล้วนำลงทอด 2 นาที จากนั้นกลับด้าน และทอดต่ออีก 2 นาที พยายามรักษาแป้งที่เคลือบไว้ให้ได้มากที่สุด
     4. วางเต้าหู้ที่ทอดแล้วลงบนจาน แล้วราดด้วยซอสร้อนๆ (จากข้อ 2) โรยต้นหอมหั่นและหัวไชเท้าขูด อาจเพิ่มหรือลดส่วนนี้ได้ตามใจชอบ

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Japanesecooking101 และ Wikipedia

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #1: กิโมโน คืออะไร

     กิโมโน (着物, きもの) เป็นเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น คำว่า "กิโมโน" มีความหมายว่า "สิ่งสำหรับสวมใส่" กิโมโนมีลักษณะคล้ายเสื้อคลุมที่ยาวมาก ซึ่งนิยมสวมใส่กันในเทศกาลต่างๆ หรือโอกาสพิเศษ เพราะกิโมโนถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความสุภาพนั่นเอง

     กิโมโน มีซับใน คอปกแบบพิเศษ และส่วนแขนที่ทั้งกว้างและยาว การสวมกิโมโน คือการนำมาห่อร่างกาย ซึ่งจำเป็นมากที่จะต้องสวมแบบให้ด้านซ้ายทับด้านขวา เพราะการสวมแบบขวาทับซ้าย จะใช้สำหรับศพในพิธีฝัง หลังจากสวมกิโมโนแล้ว จะพันรอบเอวด้วยผ้าอีกชิ้น เรียกว่า "โอบิ (帯)" แล้วมัดไว้ด้านหลัง (ในกรณีทั่วไป) สำหรับรองเท้าที่ใส่คู่กันนั้น ควรเป็นรองเท้าญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและถุงเท้าทะบิ

     กิโมโนมีหลายแบบ เช่น ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่กิโมโนแขนยาว (Furisode: 振袖) ในขณะที่ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่กิโมโนแขนสั้นกว่า (Kosode: 小袖)

กิโมโนแขนยาว (振袖) กิโมโนแขนสั้น (小袖)

     ระหว่างยุค Kofun ถึงช่วงต้นยุค Heian แฟชั่นจีนมีอิทธิพลต่อชาวญี่ปุ่นมาก เนื่องมาจากการอพยพเข้าของคนจีนจำนวนมาก และการส่งทูตจากญี่ปุ่นสู่จีนช่วงราชวงศ์ถัง ในยุค Heian รูปแบบของกิโมโนดูงดงามมากขึ้น ยุค Muromachi เริ่มมีการนำกิโมโนแขนสั้น ที่แต่ก่อนนิยมสวมเป็นชั้นใน มาสวมเดี่ยวๆ โดยไม่สวม Hakama ทับ เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้โอบิพันเอวแทนนั่นเอง ต่อมาในยุค Edo แขนของกิโมโนเริ่มมีความยาวมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน โอบิกว้างมากขึ้นและมีวิธีมัดหลากหลายแบบ ซึ่งถือว่าเป็นแฟชั่นในช่วงนั้นเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้น รูปแบบของกิโมโนทั้งชายและหญิง โดยรวมแล้วไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก และศาสตร์ของการผลิตกิโมโน ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น ศิลปะชั้นสูง ปัจจุบัน แม้คนญี่ปุ่นจะไม่ได้สวมกิโมโนในชีวิตประจำวันเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก็ยังใช้ในโอกาสสำคัญอยู่


Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

Introduction: Tai Sakura Okiya

     สวัสดีค่ะ บล็อกของเรา Tai Sakura Okiya บล็อกของมนุษย์ผู้คลั่งไคล้ในความญี่ปุ่น โดยเฉพาะเรื่องราวของเหล่าดอกไม้ในโลกของต้นหลิว ที่มีมาตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งก็คือ "เกอิชา" นั่นเอง เราขอนำเสนอ ความรู้เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น ทั้งวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยว และอีกมากมาย รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเกอิชา ที่หลายท่านอาจยังสงสัย หรือเข้าใจผิดเกี่ยวกับพวกเธอ

     ผู้เขียนนอกจากจะมีความคลั่งไคล้ในเกอิชาและความญี่ปุ่นแล้ว เธอยังมีความฝันที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีเกอิชา เธอจึงตัดสินใจสร้างบล็อกเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เธอสนใจ และเพื่อรวบรวมผู้ร่วมอุดมการณ์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้สนใจ มีแหล่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเกอิชามากขึ้น และหากท่านสนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับผู้เขียน อย่าลังเลที่จะติดต่อเรา

     หากมีข้อสงสัยหรือข้อติชม สามารถแสดงความคิดเห็นได้ด้านล่างบทความ ผู้เขียนยินดีน้อมรับทุกคำติชม และจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบล็อกของเราให้ดียิ่งขึ้นไป


ขอต้อนรับสู่โลกแห่งความฝัน ที่อาจกลายเป็นจริงในเร็ววันค่ะ
Fumiou, Tai Sakura Okiya