วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2561

กิโมโนศาสตร์ #18: Hiyoku กิโมโนชั้นใน

     ปัจจุบัน ความสำคัญของการสวมกิโมโนหลายชั้นได้ค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา มีเพียงไมโกะและเกอิชาที่ยังคงสวมกิโมโนหลายชั้นอยู่ในสมัยนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้กิโมโนประกอบการร่ายรำที่งดงามมากยิ่งขึ้น เหล่าเกอิชามีเอกลักษณ์ของการสวมกิโมโนคือการดึงกิโมโนด้านหลังลงต่ำๆ เผยให้เห็นส่วนหลังของคอมากกว่าที่ปรากฏในการสวมกิโมโนของหญิงชาวบ้านธรรมดา นอกจากนี้ในงานแต่งงานในปัจจุบัน เจ้าสาวก็อาจสวมกิโมโนหลายชั้น คือสวมคู่กับ Hiyoku (ひよく : กิโมโนชั้นใน) ตามความเชื่อของลัทธิชินโต (神道: ลัทธิตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น) ของญี่ปุ่นได้เช่นกัน

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก kichirobi on Instagram)
ไมโกะ Fumiyuki จากโอกิยะ Katsufumi

     ไมโกะและเกโกะจะสวมกิโมโนที่เรียกว่า Susohiki (裾引き) หรือ Hikizuri (引きずり) ด้วยความยาวที่ลากถึงพื้นของกิโมโนประเภทนี้ ทำให้พวกเธอต้องดึงส่วนล่างของกิโมโนขึ้นมาเวลาเดิน เพื่อไม่ให้ปลายด้านล่างของกิโมโนเปื้อนฝุ่นจากพื้นดิน เราจึงสามารถมองเห็น Hiyoku ของไมโกะและเกโกะได้ไม่ยากนัก

     อีกหนึ่งรูปแบบของการสวม Hiyoku คือกิโมโนของเจ้าสาว นิยมสวมกิโมโนหลายๆ ชั้น โดยกิโมโนตัวหลักต้องเป็นสีขาวเท่านั้น แต่อาจสวมกิโมโนที่เรียกว่า Uchikake (打掛) ที่มีสีอ่อนคลุมอีกชั้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว Hiyoku ของกิโมโนเจ้าสาวก็มีสีแดงเหมือนกัน แต่กิโมโนชั้นในเหล่านั้นจะถูกสวมด้านใน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก  E-kimono rental on Rakuten)
กิโมโนของเจ้าสาว

     ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น กิโมโนจะใช้สวมคู่กับ Hiyoku โดย Hiyoku จะเปรียบเสมือนกิโมโนตัวที่สองนอกจากกิโมโนตัวหลัก ใช้สวมเป็นอีกชั้นด้านในก่อนสวมกิโมโนหลัก ตัว Hiyoku ช่วยให้ลักษณะกิโมโนที่สวมเสร็จเรียบร้อยแล้วดูมีความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมมากขึ้น ซึ่งคำว่า Hiyoku อาจหมายความถึงกิโมโนชั้นในเฉพาะส่วนล่างลงไป ที่จะปรากฏออกให้คนอื่นเห็นได้เมื่อสวมใส่ ในขณะที่ส่วนบนอาจไม่สามารถมองออกได้จากภายนอก จึงไม่จำเป็นต้องสวม Hiyoku ก็ได้

     แฟชั่นสมัยญี่ปุ่นโบราณ นิยมสวม Hiyoku เป็นกิโมโนชั้นในตลอดทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ในขณะที่แฟชั่นกิโมโนปัจจุบันจะนิยมสวมเป็นบางส่วนตามที่ได้กล่าวถึงด้านบน เป็นการให้ความรู้สึกพอเป็นพิธีการว่าจริงๆ แล้วผู้สวมกิโมโนมีการสวมชั้นในด้วยเท่านั้น

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Japan-talk
Fumiou, Tai Sakura Okiya

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น