ในอดีต การทำความสะอาดกิโมโนจะต้องแยกชิ้นส่วนทั้งหมดออกจากกันก่อน เมื่อซักและแห้งแล้วก็นำมาเย็บประกอบกันอีกครั้ง วิธีทำความสะอาดกิโมโนแบบนี้เรียกว่า Arai Hari (洗い張り) และเนื่องด้วยผู้ซักจะต้องนำด้ายที่เย็บชิ้นผ้าติดกันออกก่อนนำไปทำความสะอาด กิโมโนสมัยก่อนจึงต้องเย็บด้วยมือเท่านั้น ซึ่งการจะทำ Arai Hari ได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและยังมีขั้นตอนที่ยาก ทำให้ความนิยมสวมกิโมโนของชาวญี่ปุ่นลดลงไปมาก ต่อมาก็มีการพยายามพัฒนาผ้าสมัยใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิธีการทำความสะอาดกิโมโนให้ง่ายขึ้น แม้ขั้นตอนของ Arai Hari ได้ถูกตัดออกไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังอนุรักษ์โดยการฝึกฝนสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อการทำความสะอาดเฉพาะด้าน โดยเฉพาะเครื่องสวมใส่ที่วิจิตรและมีราคาแพง
Arai Hari
ปัจจุบัน กิโมโนที่สั่งทำขึ้นแบบเฉพาะจะถูกส่งให้ลูกค้า แต่นั่นมักเป็นกิโมโนที่มีการเย็บชิ้นผ้าบริเวณขอบด้านนอกติดกันไว้แบบหลวมๆ การเย็บลักษณะนี้เรียกว่า Shitsuke (しつけ) ผู้ผลิตกิโมโนจะเย็บตัวกิโมโนมาแบบหลวมและหยาบเพื่อป้องกันไม่ให้กิโมโนย่นหรือเป็นรอยพับระหว่างการขนส่ง ซึ่งลูกค้าที่สั่งนั้นก็ต้องนำ Shitsuke Ito (しつけ糸 : ด้ายของการทำ Shitsuke) ออกก่อนสวมใส่ด้วย
ด้ายที่คล้ายกับเนาไว้คือ Shitsuke Ito
เช่นเดียวกับเครื่องสวมใส่อื่นๆ ของชาวญี่ปุ่น การพับกิโมโนก็มีวิธีการเฉพาะด้าน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษาเนื้อผ้าและป้องกันไม่ให้ผ้ายับย่นเวลาพับเก็บ โดยมีกระดาษชนิดพิเศษที่ใช้ห่อกิโมโนก่อนเก็บเข้าตู้ เรียกว่า Tatoushi (たとう紙)
แต่ก่อน กิโมโนต้องถูกนำมาตากอากาศให้แห้งทั้งก่อนและหลังสวมใส่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบซักแห้งกิโมโนมากกว่า แม้ว่าการซักแห้งจะแพงมาก แต่ก็ยังแพงน้อยกว่า Arai Hari แต่การซักแห้งก็ยังมีข้อจำกัดคือ อาจใช้ทำความสะอาดผ้าบางชนิดไม่ได้ เช่น ผ้าย้อมสี
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการทำความสะอาดกิโมโน
- เมื่อใดก็ตาม หากคุณสวมใส่กิโมโนตัวนั้นไปแล้ว ให้นำกิโมโนมาแขวนในที่แห้งและห้ามถูกแดดโดยตรง กระนั้นก็ห้ามแขวนนานกว่า 1 วัน จากนั้นให้พับแล้วนำไปเก็บในที่แห้งและสะอาด
- ใช้ผ้านุ่มๆ เช่น ผ้าขนหนู ผ้าขนสัตว์ หรือผ้ากำมะหยี่ เช็ดปัดฝุ่นกิโมโน
- ต้องรีบทำความสะอาดคราบต่างๆ ทันที อาจใช้น้ำมันเบนซินทำความสะอาดคราบเครื่องสำอาง ดิน หรือน้ำมันอื่นๆ ขั้นแรกให้วางผ้าขนหนูสีขาวลงบนแผ่นรองรีดหรือโต๊ะ วางส่วนของกิโมโนที่มีคราบเปื้อนลงไปทับบนผ้าขนหนู แล้วเทน้ำมันเบนซินลงบนผ้าพันแผล(ผ้ากอซ) จากนั้นนำผ้าพันแผลนั้นตบเบาๆ ลงบนส่วนที่เปื้อน ห้ามเช็ดหรือถูลงบนกิโมโนโดยตรง เว้นแต่ว่าคราบนั้นจะกระจายฝังลึกลงไปบนเนื้อผ้าแล้ว
การสร้างลวดลายบนผ้าด้วยเทคนิค Shibori
- การรีดกิโมโนใช้ผ้ารองรีด (Pressing Cloth) และเตารีดรีดตัวกิโมโนจากด้านใน ค่อยๆ ใช้เตารีดกดลงไปบนรอยยับเบาๆ โดยห้ามรีดลงบนส่วนที่สะท้อนแสงวิบวับหรือส่วนที่ปักด้วยด้าย เพราะความร้อนอาจทำให้สีและคุณภาพของส่วนนั้นลดลง เช่นกันส่วนที่เป็น Shibori (絞り) ก็ห้ามรีดโดยตรง เพราะจะทำให้เนื้อผ้าเรียบลงไปจนขาดความสวยงาม และที่ขาดไม่ได้เลยคือห้ามใช้เตารีดไอน้ำ ต้องใช้เตารีดธรรมดาเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น