วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

เกอิชา นาฏนารี #19: ศิลปะของเกอิชา

     เกอิชาเริ่มการฝึกฝนศิลปะทางด้านดนตรีและการร่ายรำตั้งแต่ยังเด็กมากๆ และพวกเธอก็จะยังคงเป็นเกอิชาไปชั่วชีวิต โดยเริ่มขึ้นเป็นเกอิชาเต็มตัวได้เมื่ออายุ 18-19 ปี การฝึกฝนศิลปะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเกอิชา ไม่สำคัญว่าจะประกอบอาชีพนี้มานานเท่าใด แต่ที่สำคัญคือพวกเธอจะฝึกกันทุกวัน

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Huryouoyaj on exblog)
ไมโกะ Mamefuji และเกโกะ Makino กำลังรำในเพลง Gion Kouta (祇園小唄)

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Tamayura on Flickr)
ไมโกะ Kiyono ในตำแหน่งเดียวกับรูปถาพก่อนหน้า
สังเกตมือของเธอ ที่แสดงให้เห็นถึง “การฝึกฝนแบบเก็บรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว”

     การร่ายรำของเกอิชาถูกพัฒนามาจากการร่ายรำในการแสดง Noh (能) และ Kabuki (歌舞伎) การร่ายรำที่โผงผางตรงไปตรงมาเหล่านั้นถูกดัดแปลงให้เรียบง่ายและมีรูปแบบเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้มีรูปแบบที่ตายตัว ทุกส่วนของร่างกายถูกออกแบบมาให้รำด้วยท่าทางที่สื่อความหมายในตัวมันเอง แต่ปัจจุบันก็มีเพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สามารถเข้าใจท่าทางเหล่านั้นได้ ตัวอย่างเช่น การใช้มือเพื่อสื่อความหมายถึงการอ่านจดหมายรัก การคาบปลายด้านหนึ่งของผ้าเช็ดหน้าใช้แสดงถึงมารยาหญิง และการใช้แขนกิโมโนที่ห้อยยาวลงมาเช็ดน้ำตาแทนความโศกเศร้า

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Geishakai - blog)
เกโกะ Toshimana กำลังบรรเลง Shamisen

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Geishakai - blog)
เกโกะ Toshimana กำลังดีด Koto

     การร่ายรำของเกอิชานั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับดนตรีแบบญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งเครื่องดนตรีญี่ปุ่นที่เป็นพื้นฐานที่สุดของพวกเธอคือชามิเซ็ง (三味線 : เครื่องดนตรีประเภทดีด มี 3 สาย) ชามิเซ็งเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมของเกอิชาเมื่อประมาณ ค.ศ.1750 ตอนนั้นมีศิลปินหญิงมากมาย ที่ประสบผลสำเร็จในการฝึกเล่นชามิเซ็ง ซึ่งเครื่องดนตรีชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจาก Okinawa มีลักษณะคล้าย Banjo ที่มี3 สาย บรรเลงโดยการใช้แผ่นไม้ดีดสายคล้ายการเล่นกีตาร์ด้วยปิ๊ก ชามิเซ็งมีเสียงที่คมชัดแต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้า นิยมบรรเลงคู่กับขลุ่ยญี่ปุ่น โดยเหล่าเกอิชาต้องฝึกฝนชามิเซ็งให้ชำนาญแม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายปีก็ตาม นอกเหนือจากชามิเซ็งและขลุ่ยญี่ปุ่นแล้ว เกอิชายังต้องฝึกเครื่องดนตรีอื่นๆ อีก เช่น กลองเล็ก Ko-tsuzumi, กลองใหญ่ Taiko, Koto และอาจมีอื่นๆ อีก เกอิชาบางคนไม่ได้ทำได้เพียงร่ายรำและบรรเลงดนตรีเท่านั้น แต่พวกเธอยังจัดดอกไม้ แต่งกลอน แต่งเพลง เขียนอักษร หรือวาดพู่กันได้อีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia
Fumiou, Tai Sakura Okiya

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น