วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #16: อุปกรณ์เสริมของกิโมโน(2)

     อุปกรณ์ที่ใช้สวมคู่กับกิโมโน (着付け小物 : Kitsuke-komono)

Happi (法被)
     เป็นอีกชนิดหนึ่งของ Haori ที่แต่ก่อนมักสวมโดยพ่อค้าแม่ค้า แต่ปัจจุบัน Happi ได้กลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานเทศกาลต่างๆ อย่างแยกไม่ออก

Hiyoku (ひよく)
     กิโมโนชั้นใน ซึ่งสมัยก่อนผู้หญิงจะสวมก่อนสวมกิโมโนทับอีกชั้นเสมอ แต่ปัจจุบันจะสวมเฉพาะในโอกาสพิเศษที่มีความเป็นทางการ เช่น งานแต่งงาน โดยในวัฒนธรรมการแต่งกายของกิโมโนชั้นสูงจะมีการสวม Hiyoku หลายชั้นก่อนสวมกิโมโนตัวจริงทับ

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.junihitoe.net)
Juunihitoe (十二単) วัฒนธรรมการสวมกิโมโนในราชสำนักที่ต้องสวมกิโมโนและ Hiyoku รวมกว่า 12 ชั้น

Juban (襦袢) และ Hadajuban (肌襦袢)

     ซับในกิโมโน ใช้สวมก่อน Nagajuban (長襦袢) โดยคำว่า Hadajuban หมายความถึงส่วนเสื้อ ส่วนส่วนที่เป็นกระโปรงคล้ายผ้าถุงจะเรียกว่า Susoyoke (裾よけ)

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก wanadesiko on Rakuten)
Kimono surippu (着物スリップ) เป็น Juban แบบชิ้นเดียวทั้งตัว
เกิดจากการผสมกันระหว่าง Hadajuban และ Susoyoke

Jittoku (十徳)
     บางครั้งอาจเรียก Jittoku Haori (十徳羽織) เป็นชนิดหนึ่งของเสื้อคลุม Haori ที่สวมโดยผู้ชายเท่านั้น Jittoku ทำมาจากผ้า Ro () หรือ Sha () ขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยตัว Jittaku มีความยาวถึงสะโพก และมีสายสำหรับรัดด้านหน้าที่ทำจากผ้าชนิดเดียวกันกับตัวเสื้อ บริเวณข้อมือถูกออกแบบให้เปิดกว้างทั้งหมด ต่างจาก Haori ธรรมดาที่จะมีช่องเล็กๆ สำหรับให้มือผ่านได้เท่านั้น และจะไม่มีการเพิ่มสัญลักษณ์ประจำตระกูลเพื่อเพิ่มระดับความเป็นทางการใดๆ ทั้งสิ้น
     Jittoku มีต้นกำเนิดจากยุค Kamakura (ค.ศ.1185-1333) และยุค Edo (ค.ศ.1603-1868) สมัยนั้นคนที่จะสวม Jittoku คือ หมอ นักบวช ปราชญ์ขงจื๊อ และผู้เชี่ยวชาญด้านพิธีชงชาของญี่ปุ่น ปัจจุบันกลุ่มคนที่สวม Jittoku ในชีวิตประจำวันก็เห็นจะมีแต่ผู้ประกอบพิธีชงชาที่อยู่ในขั้นสูงๆ

Nagajuban (長襦袢)
     ซับในกิโมโนที่สวมได้ทั้งชายและหญิง นิยมสวมด้านในก่อนสวมกิโมโนตัวจริงทับ เนื่องจากกิโมโนส่วนใหญ่มีสวดลายที่ดูแลรักษาความสะอาดยาก การสวมซับในชั้นหนึ่งก่อน จะช่วยให้กิโมโนตัวจริงเปื้อนน้อยลง จึงไม่ต้องซักมากให้เสี่ยงลายเสียหายโดยใช่เหตุ ส่วนเดียวของ Nagajuban ที่เห็นได้จากภายนอกแม้จะสวมกิโมโนทับอีกชั้นไปแล้วก็คือปก Nagajuban หลายแบบมีปกที่สามารถแยกออกจากตัวชุดได้ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบ ลาย และสีของปกให้เข้ากับกิโมโนตัวจริง และยังช่วยให้ซักทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นด้วย ซึ่งสีของ Nagajuban ที่มีระดับความเป็นทางการสูงคือสีขาว แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เน้นลวดลายหรูหราและสีสีนสดใสประหนึ่งเป็นกิโมโนที่จะสวมด้านนอกจริงๆ และตั้งแต่ที่กิโมโนของผู้ชายถูกปรับรูปแบบให้เรียบง่ายขึ้น Nagajuban ของผู้ชายก็กลับพัฒนาในทางตรงกันข้าม คือมีการใส่ลวดลายและสีสันสดใสโดดเด่นลงไปมากขึ้น

Kanzashi (簪)
     เครื่องประดับผมของผู้หญิงแบบญี่ปุ่นโบราณที่มีรูปแบบหลากหลายมาก ซึ่งคำๆ นี้ยังรวมไปถึงดอกไม้จากผ้า หวีเสียบ และปิ่นหยกด้วย

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก kwc_photo on Instagram)
ไมโกะ Fumiyuki จาก Kamishichiken
Tsumami Kanzashi (つまみ簪) ดอกไม้ประดับผมจากผ้า
เป็นรูปแบบของดอกเบญจมาศ สำหรับเดือนตุลาคม

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก kyohanamachi_kawamura on Instagram)
ไมโกะ Kanako จาก Miyagawacho
Tsumami Kanzashi (つまみ簪) ดอกไม้ประดับผมจากผ้า
รูปแบบพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาล Gion ในเดือนกรกฎาคม

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia
Fumiou, Tai Sakura Okiya

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น