วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #16: เกอิชา และ โออิรัน

     ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมอันเป็นที่แปลกหูแปลกตาอยู่มากมาย และเมื่อกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่จะเข้ามาในความคิดของเราก็คือหญิงคณิกาสไตล์ญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดและแยกไม่ออกระหว่าง "หญิงคณิกา" และ "เกอิชา" โดยเรื่องราวของหญิงสาวเหล่านี้ได้กลายเป็นที่รู้จักอย่างมากผ่านภาพยนตร์เรื่อง "Memoirs of a Geisha" ในปี 2005
     ในญี่ปุ่นก็เหมือนกับหลายประเทศอื่นๆ ที่มีเรื่องราวของหญิงคณิกาปรากฏในประวัติศาสตร์ โออิรัน (花魁 : Oiran) เป็นชื่อเรียกของหญิงคณิกาสมัยญี่ปุ่นโบราณ แม้ปัจจุบันเราอาจได้ยินถึงการมีอยู่จริงของพวกเธอบ้าง แต่ก็มีจำนวนน้อยลงมากและพวกเธอก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการขายบริการเช่นสมัยก่อนแล้ว

ประวัติศาสตร์ของเกอิชาและโออิรัน
     ในสังคมตะวันตก เกอิชาเป็นที่รู้จักมากกว่าโออิรันมาก ซึ่งบทบาท หน้าที่ และลักษณะของพวกเธอมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยุครุ่งเรืองของ โออิรัน คือต้นยุค Edo (ค.ศ.1600-1868) ในยุคนั้นพวกเธอเปรียบเสมือนผู้ให้ความบันเทิงและผู้มีชื่อเสียงระดับ Superstars ในทางตรงกันข้าม เกอิชาเป็นผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังและถูกออกกฎให้สามารถแต่งตัวได้เพียงเรียบๆ เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นที่โดดเด่นแข่งกับโออิรัน โออิรันเป็นหญิงสาวที่ได้รับการศึกษาในศิลปะหลากแขนง และพวกเธอก็ยังได้รับการเคารพยกย่องจากการประกอบอาชีพนี้ ย้อนไปในอดีต การจะเรียกใช้บริการโออิรันได้นั้นต้องใช้เงินมหาศาล เรียกได้ว่าเทียบได้กับเงินรายรับทั้งปีของคนทั่วไปก็ว่าได้ แต่กระนั้น ไม่ว่าคุณจะมีเงินจ่ายมากเท่าไหร่ แต่โออิรันก็มีสิทธิ์ปฏิเสธแขกได้หากคนๆ นั้นดูไม่น่าเชื่อถือ
     เกอิชายังคงมีอยู่จริงมาจนถึงปัจจุบัน ตรงข้ามกับอาชีพโออิรันจริงๆ ที่ได้หายไปจากสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันตั้งแต่มีการกำหนดให้การค้าบริการทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการพยายามรักษาวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์นี้ให้ยังคงมีชีวิตผ่านขบวนโออิรัน (花魁道中 : Oiran Douchuu) ที่สมัยก่อนก็มีการเดินขบวนโออิรันไปรอบๆ เขตของพวกเธอเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเป็นการโฆษณาบริการของพวกเธอไปในตัว ปัจจุบันยังมีการจัดการเดินขบวนโออิรันบ้างเป็นครั้งคราวตามงานเทศกาลในจังหวัดต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น และที่โด่งดังมากที่สุดก็คือขบวนโออิรันในเขต Asakusa จังหวัดโตเกียว (江戸吉原花魁道中) และในเทศกาล Tsubame Sakura (つばめ桜祭り) จังหวัด Nigata 
     และต่อไปนี้คือข้อแตกต่างของเกอิชาและโออิรัน ที่จะช่วยให้คุณแยกพวกเธอออกจากกันได้ง่ายขึ้น

1. กิโมโน (着物 : Kimono)

     เกอิชาแต่งตัวเรียบร้อยเรียบง่ายเสมอ และไม่สามารถสวมกิโมโนที่มีการสะท้อนแสงออกมาเป็นแวบๆ ได้ แต่สำหรับโออิรัน ทุกอย่างดูเหมือนจะตรงกันข้าม โออิรันต้องแต่งตัวให้ดูหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อดึงดูดความสนใจจากแขก ปกติพวกเธอจะสวมกิโมโนที่มีการสร้างลายจากแผ่นทองหรือดิ้นทองผสมผสานกับสีสันที่ฉูดฉาด ส่วนในเรื่องคุณภาพของกิโมโนที่สวมใส่ก็แตกต่างกัน เกอิชามักสวมกิโมโนที่มีราคาแพง แต่ก็ยังถูกกว่ากิโมโนของโออิรันที่ต้องทำด้วยผ้าไหมแท้ทั้งชุด โดยโออิรันตำแหน่งสูงสุดจะถูกเรียกว่า Tayuu (
太夫) โออิรันในขั้นนี้จะสวมกิโมโนหรูหราทับด้านนอกอีกชั้นที่เรียกว่า Uchikake (打掛) ซึ่่งอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแตกต่างอย่างชัดเจนของเกอิชาและโออิรันคือ เกอิชาจะผูกเงื่อนโอบิด้านหลัง แต่โออิรันจะผูกไว้ด้านหน้า กล่าวกันว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการของพวกเธอที่ต้องสวมและถอดกิโมโนบ่อยครั้ง ซึ่งน้ำหนักชุดทั้งหมดของโออิรันอาจมากถึง 20 กิโลกรัมเลยทีเดียว

2. ทรงผม (日本髪 : Nihongami)
     เกอิชาจะทำผมหรือสวมวิกทรงที่เรียบง่าย แต่โออิรันมักทำผมหรือสวมวิกให้ดูอลังการพร้อมประดับเครื่องประดับมากมายเสมอ ทั้งปิ่น (かんざし
 : Kanzashi) และเครื่องประดับผมทั้งสีทองและสีสันอื่นๆ วิกที่โออิรันนิยมสวมคือทรง Date-hyogo (伊達兵庫) ที่มีการมัดผมเป็นโบว์ด้านหลังอย่างชัดเจน ในขณะที่เกอิชาจะไม่ทำเช่นนั้น โดยเฉพาะส่วนผมของโออิรันก็มีน้ำหนักถึง 10 กิโลกรัม ทำให้ชุดทั้งหมดรวมผมและเครื่องประดับของโออิรันมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 30 กิโลกรัม

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก ta_ta999 - blog)
เกอิชามักสวมวิกทรง Taka-shimada

(ขอขอบคุณรูปภาพจาก Pinterest)
โออิรันมักสวมวิกทรง Date-hyogo

3. รองเท้า
     ทั้งเกอิชาและโออิรันสวมรองเท้าไม้ (下駄
 : Geta) เหมือนกัน แต่ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ความสูงของรองเท้า โดยเกอิชาจะมักสวมรองเท้าไม้ที่ไม่ต่างจากรูปแบบทั่วไปนัก แต่รองเท้าของโออิรันจะสูงราว 15 เซนติเมตร ทำเช่นนี้เพื่อให้แน่ใจว่าขณะเดินขบวนจะไม่มีใครอยู่สูงกว่าโออิรันและเพื่อให้แขกมองเหห็นเธออย่างทั่วถึง โดยการเดินของโออิรันจะมีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า Soto-Hachi-Monji (外八文字) แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของ "หญิงที่งาม 8 ด้าน"

(ขอขอบคุณวิดีโอจาก tane_temiya1969 on Youtube)
ขบวนโออิรัน กับวิธีการเดินอันเป็นเอกลักษณ์

4. เท้า

     ย้อนไปในสมัย Edo การเดินเท้าเปล่าโดยไม่สวมถุงเท้าในที่ส
าธารณะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรนัก ในขณะที่เกอิชาสวมถุงเท้า Tabi (足袋) เสมอ โออิรันกลับไม่สวมถุงเท้าแม้ว่าจะเป็นฤดูหนาวก็ตาม กล่าวกันว่าเมื่อชายหนุ่มเห็นเท้าเปล่าๆ ของเธอก็จะเริ่มรู้สึกคลั่งและหลงใหลในตัวโออิรัน ซึ่งในปัจจุบันบางครั้งก็มีการทาแป้งขาวลงบนทุกส่วนของร่างกายที่ไม่ได้ถูกปกคลุมโดยกิโมโนด้วย

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก adventuresofanette - blog และ www.tsunagujapan.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น