วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #6: เกอิชาสมัยใหม่

     เกอิชาสมัยนี้ยังคงอาศัยอยู่ในสำนักเกอิชาที่เรียกว่า โอกิยะ (Okiya : 置屋) เหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะในช่วงการเป็นเกอิชาฝึกหัด แต่หลังจากนั้น เมื่อขึ้นเป็นเกอิชาเต็มตัวที่มีประสบการณ์แล้วก็สามารถแยกตัวออกไปอยู่ด้วยตนเองได้ โดยสังคมชั้นสูงจากวัฒนธรรมของเกอิชานั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Karyuukai (花柳界) ที่แปลว่าเมืองดอกไม้

     ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 การฝึกฝนเกอิชาจะเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 4 ขวบ แต่สมัยนี้ การศึกษาภาคบังคับทำให้เด็กๆ ต้องเรียนจนถึงอายุ 15 ปี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว หากพวกเธอต้องการที่จะเป็นเกอิชา ก็สามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเริ่มการฝึกฝนสู่การเป็นเกอิชาได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พวกเธอมักตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางสายนี้หลังเรียนจบชั้นมัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มีไม่น้อย

     เกอิชายังต้องเรียนการบรรเลงเครื่องดนตรีญี่ปุ่นดั้งเดิมด้วย ซึ่งได้แก่ Shamisen, Shakuhachi และกลองต่างๆ รวมถึงยังต้องศึกษาเกมสำหรับงานเลี้ยง บทเพลงญี่ปุ่นโบราณ การเขียนอักษร การร่ายรำ การชงชา วรรณคดี และบทกลอนต่างๆ ด้วย ซึ่งพวกเธอจะสามารถเก่งขึ้นได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้จากเกอิชาหรือไมโกะรุ่นพี่ และจากความช่วยเหลือของเจ้าของโอกิยะ (Okaa-san : お母さん)


Shamisen เครื่องดนตรีสามสายของญี่ปุ่น


     เนื่องด้วยวัฒนธรรมที่ซับซ้อน และการเป็นสังคมชั้นสูงของเหล่าเกอิชา ทำให้กิโมโนที่พวกเธอสวมใส่นั้นมีความยาวมาก พร้อมประกอบด้วยลวดลายงดงาม และมีการนำผ้าผืนยาวที่เรียกว่า “โอบิ (Obi : 帯)”มารัดทับกิโมโนบริเวณเอวเพื่อรักษาให้กิโมโนสามารถปกคลุมร่างกายได้

     จังหวัดเกียวโต ถือได้ว่าเป็นแหล่งของเกอิชาที่มีความมั่นคงและยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุด โดยในแถบญี่ปุ่นตะวันตกจะเรียกเกอิชาว่า “เกโกะ (Geiko : 芸子)” แต่ในแถบโตเกียวก็ยังคงเรียกว่าเกอิชา ซึ่งการจะพบเกอิชานอกเขต Hanamachi (花街) หรือ Chayagai (茶屋街 : แปลว่าเขตของโรงน้ำชา) เป็นเรื่องยากมาก เพราะสมัยก่อน ในปีคริสต์ศักราช 1920 มีเกอิชามากถึง 80,000 คนทั่วญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงราวๆ 1,000-2,000 คนเท่านั้น

     ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงทำให้ความสนใจของคนญี่ปุ่นต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองนั้นลดน้อยลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำหรับแลกกับศิลปะจากเกอิชาที่สูงมากอีกประการ ยิ่งทำให้โลกในส่วนนี้ถูกละทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยทำให้โลกของเกอิชาถูกฟื้นฟูขึ้นมาได้มาก อินเทอร์เน็ตช่วยให้เด็กผู้หญิงได้เห็นวัฒนธรรมของเกอิชา และต้องการที่จะเป็นเกอิชากันมากขึ้น

     เกอิชามักถูกจ้างไปงานเลี้ยงบ่อยๆ โดยส่วนมากจะจัดงานกันที่โรงน้ำชา (Ochaya : お茶屋) หรือภัตตาคารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Ryoutei : 料亭) สมัยก่อนจะคิดค่าจ้างเกอิชาด้วยการจุดธูป เรียกว่า Senkoudai (線香代 : ค่าธูป) หรือ Gyokudai (玉代 : ค่าอัญมณี) แต่ปัจจุบันจะคิดเป็นรายชั่วโมง และในแถบเกียวโตจะเรียกค่าจ้างเหล่านี้ว่า Ohana (お花) หรือ Hanadai (花代) ที่แปลว่าค่าดอกไม้ โดย Okaa-san จะติดต่อกับศูนย์กลางของเขตเกอิชา (Kenban : 検番) เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบ ได้จัดการกับตารางงานและตารางเรียนของเหล่าไมโกะและเกโกะทุกคน

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น