วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #7: เกอิชา อาชีพที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง

     “ธุรกิจหลักของญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่การต่อเรือ แต่เป็นการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม การผลิตวิทยุทรานซิสเตอร์หรือไม่ก็กล้องถ่ายรูป ทั้งหมดนั่นคือธุรกิจของการให้ความบันเทิง”
     - Boye De Mente, ผู้ชื่นชอบเกอิชา -

     คำว่าเกอิชา แปลตรงตัวว่า "ศิลปินผู้ให้ความบันเทิง" แม้ว่าจะมีหญิงขายบริการบางกลุ่มอ้างตัวว่าเป็นเกอิชา แต่พวกเขาไม่ใช่ ชีวิตรักของเกอิชาแตกต่างจากชีวิตการทำงานของพวกเธอในฐานะเกอิชาโดยสิ้นเชิง เพราะเกอิชามีหน้าที่เพียงการให้ความบันเทิงแขกด้วยดนตรีการร่ายรำ และการสนทนา

     “เกอิชาเป็นผู้หญิงที่ได้รับเงินมาก ประสบความสำเร็จมาก และเป็นหญิงที่แข็งแกร่งมากที่สุดในญี่ปุ่น สิ่งนี้ยังคงเป็นจริงเสมอมา”
     - Iwasaki Mineko, จากหนังสือ Geisha, a Life -

     เกอิชาเรียนการร่ายรำตามแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม และรักษาภาพลักษณ์ของตนให้ดูสูงส่ง แม้เกอิชาต้องเป็นหญิงโสด แต่พวกเธอก็อาจมีคนรักได้

     “ปัจจุบันไม่มีเกอิชาชาวตะวันตกทำงานอยู่เลย วัฒนธรรมของเกอิชานั้นจัดได้ว่าเป็นศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ปราศจากมลทิน”
     - Kenneth Champeon, บทความ The Floating World -
*บทความนี้ค่อนข้างเก่า แต่ปัจจุบันมีเกอิชาชาวต่างชาติทั้งตะวันตก และประเทศอื่นในแถบตะวันออกด้วย*

     ความสัมพันธ์ของเกอิชากับแขกผู้ชาย

     ความสัมพันธ์ของเกอิชากับแขกผู้ชายนั้นแตกต่างจากความสัมพันธ์ของสามีภรรยาอย่างมาก เกอิชาในอุดมคติต้องแสดงศิลปะที่ร่ำเรียนมาเพื่อให้ความบันเทิงแขก แต่ภรรยาในอุดมคติต้องมีความเจียมเนื้อเจียมตัว เกอิชามีอิสระมาก แต่ภรรยาต้องตกอยู่ใต้ความเคร่งเครียดของการรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ ตามประวัติศาสตร์ บางครั้งเกอิชาก็แต่งงานกับแขกของพวกเธอ แต่การจะแต่งงานได้นั้นต้องแลกมากับตำแหน่งเกอิชา ซึ่งก็คือต้องลาออกนั่นเอง

     นอกจากนี้ เกอิชายังสามารถจีบกันกับแขกได้ แต่ต้องอยู่ภายในกรอบของคำว่าการต้อนรับและไมตรีจิต ไม่ใช่ความรัก โดยการฝึกฝนหลายปีจะช่วยทำให้พวกเธอสามารถประยุกต์ละแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ต่างได้ดีขึ้น

     เกอิชา อาชีพที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง

     ผู้หญิงในสังคมเกอิชาถือได้ว่าเป็นผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในญี่ปุ่น เพราะในเส้นทางสายนี้ เกือบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องจะถูกจัดการโดยผู้หญิง หากไม่มีโรงน้ำชา (Ochaya : お茶屋) หรือโอกิยะ (Okiya : 置屋) ที่จัดการโดยผู้หญิงผู้มากด้วยทักษะเหล่านี้ โลกของเกอิชาอาจไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป ผู้ดูแลโรงน้ำชาเป็นผู้ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สังคมนี้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น และบางครั้งผู้ชายก็เข้ามาเกี่ยวข้องในโลกของเกอิชาด้วย เช่น ช่างทำผม ช่างแต่งกิโมโน(เพราะการจะผูกโอบิให้ไมโกะต้องใช้แรงอย่างมาก) และนักการบัญชี โดยบทบาทของผู้ชายในสังคมนี้มีความจำกัดอย่างมาก

     "โลกของเกอิชาครั้งเริ่มแรกนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระและการมีบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง แต่ก็ไม่ใชผู้หญิงทุกคนที่จะได้รับอิสภาพอย่างมากจากการประกอบอาชีพนี้ ซึ่งเกอิชามักถูกยกย่องในสังคมชาวญี่ปุ่นในฐานะผู้รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย"
     - บทสัมภาษณ์ Iwasaki Mineko โดย Boston Phoenix -

     การจะเป็นเกอิชาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนี่เป็นทางเลือกของผู้หญิงที่ไม่ต้องการฐานะ “ภรรยา” อาจกล่าวได้ว่าสังคมของเกอิชานั้นเป็นสังคมที่มีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง เพราะผู้หญิงดูแลโอกิยะ เป็นครูสอนเกอิชารุ่นใหม่ เป็นเจ้าของโรงน้ำชา เป็นคนคัดเลือกรับเกอิชาเข้าทำงาน เป็นคนรับรายได้ ในขณะที่ผู้ชายมีบทบาทหลักเพียงการเป็นแขก ซึ่งเป็นบทบาทที่จริงๆ แล้วก็เป็นได้ทั้งแขกผู้ชายและผู้หญิง

     ในประวัติศาสตร์ผู้หญิงญี่ปุ่นมองเกอิชาเป็นผู้หญิงฉลาด แต่เกอิชารุ่นใหม่ในปัจจุบัน บางคนมองเป็นอาชีพที่มีอิสระ เพราะพวกเธอสามารถเลือกทางเดินให้ตัวเองได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงความรับผิดชอบต่อครอบครัวโดยเฉพาะลูกๆ

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #7: Chikuzenni

     Chikuzenni (筑前煮) เป็นอาหารญี่ปุ่นที่มีต้นกำเนิดจากภูมิภาคคิวชูตอนเหนือ ทำจากเนื้อไก่และผักต่างๆ ซึ่งเมนูนี้นิยมรับประทานกันในช่วงปีใหม่

     ชื่อเมนู Chikuzenni ถูกตั้งขึ้นตามชื่อจังหวัด Chikuzen ที่ภายหลังกลายมาเป็นจังหวัด Fukuoka สมัยก่อนจะเรียกเมนูนี้ว่า Game-ni (がめ煮) ซึ่งมาจากคำ "Game kuri komu" ที่แปลว่าการเก็บสะสม เพราะการปรุง Chikuzenni ขึ้นมานั้นจะต้องนำวัตถุดิบหลายอย่างมาปรุงเข้าด้วยกัน

     สมัยก่อน ครั้งสงครามการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ.1592-1598) เมื่อทหารญี่ปุ่นต้องประจำการอยู่ในเกาหลี พวกเขาจะใช้เนื้อเต่า Dobugame (どぶがめ) มาใช้ปรุงเมนูนี้แทนเนื้อไก่ แล้วเรียกอาหารจานนี้ว่า "Game-ni (がめ煮)" โดยคำว่า Game มาจากชื่อสั้นๆ ของ Dobugame นั่นเอง แต่ปัจจุบันไม่มีการนำเนื้อเต่ามาปรุงอาหารแล้ว และใช้เนื้อไก่แทน

Chikuzenni

ตำรับ Chikuzenni

วัตถุดิบ
     1. เห็ดหอม 8 ต้น
     2. ถั่วลันเตา 8 ฝัก
     3. Konnyaku 1 ก้อน
     4. แครอท 1 หัวใหญ่
     5. หน่อไม้ (ต้มให้สุก แล้วหั่นกว้าง 2 นิ้ว ลึก 1 นิ้ว)
     6. รากบัว 5 ออนซ์ (ต้มให้สุก แล้วหั่นกว้าง 2 นิ้ว)
     7. อกไก่ 1 ชิ้น หรือน่องไก่ 2 ชิ้น (หั่นกว้าง 2 นิ้ว) 
     8. น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ
     9. ดะชิ 2½ ถ้วย
     10. น้ำตาล 4 ช้อนโต๊ะ
     11. ซีอิ๊ว 5 ช้อนโต๊ะ
     12. สาเก 3 ช้อนโต๊ะ
     13. มิริง 3 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
     1. ล้างเห็ดหอมด้วยน้ำสะอาดในชาม
     2. ต้มถั่วลันเตาในน้ำ หรือต้มกับดะชิพร้อมโรยเกลือหนึ่งหยิบมือ
     3. หั่น Konnyaku เป็นชิ้นพอดีคำ
     4. หั่นแครอทให้เป็นรูปสวยงาม หนา ½ นิ้ว
     5. เติมน้ำมันลงในหม้อใหญ่ จุดไฟความร้อนปานกลาง เมื่อน้ำมันเริ่มร้อน ให้นำเนื้อไก่ลงทอดจนสุก ตามด้วยรากบัว หน่อไม้ Konnyaku และแครอท
     6. ผัด 2 นาที ใส่เห็ดหอมและดะชิ แล้วปิดฝา ทิ้งไว้ 15-20 นาที จนกระทั่งผักอ่อนตัว
     7. เติมน้ำตาล ซีอิ๊ว สาเก และมิริง จากนั้นผัด แล้วปิดฝาต้มต่ออีก 15-20 นาที
     8. เมื่อครบเวลาแล้วให้นำหม้อลงจากเตา ทิ้งไว้โดยที่ยังปิดฝาสักครู่เพื่อให้เนื้อไก่และผักซึมซับน้ำซุปเข้าไป เสร็จแล้วเสิร์ฟพร้อมโรยหน้าด้วยถั่วลันเตา

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Japanesecooking101

วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #7: Iromuji

     กิโมโน Iromuji (色無地着物)

     คำว่า Iromuji แปลตรงตัวว่า "สีพื้นธรรมดา" กิโมโนประเภทนี้เป็นกิโมโนที่มีสีเดียวทั้งตัว หรืออาจมีลายเล็กน้อยจากผ้าก็ได้ (เช่นลายจากผ้าไหม Rinzu) แต่จะไม่มีลายอื่นๆ เลย ทำให้กิโมโน Iromuji ดูมีความแข็งแกร่ง โดยสามารถสวมได้ทั้งกับหญิงที่แต่งงานแล้ว หรือยังไม่แต่งงานก็ได้ และจะต้องมีสีอื่นใดก็ได้นอกจากสีขาวหรือดำ

กิโมโน Iromuji มีสีพื้นสีเดียวทั้งตัว

     กิโมโน Iromuji ที่มีสีอ่อน ด้วยความรู้สึกสง่างามที่มากกว่าเมื่อสวมใส่ จึงมักสวมโดยหญิงที่มีอายุ ส่วนหญิงสาวอายุน้อยก็เหมาะกับแบบที่มีสีสดใสฉูดฉาดมากกว่า ซึ่งโอกาสที่นิยมสวมกิโมโนประเภทนี้ก็คือในพิธีชงชา (Cha no yu : 茶の湯) เพราะหากจะสวมกิโมโน Furisode เข้าร่วม ก็ดูจะมีสีสันฉูดฉาดและเป็นทางการมากเกินไป

     ไม่เพียงแต่พิธีชงชา กิโมโนประเภทนี้สามารถสวมในโอกาสอื่นได้อีก เช่น งานแต่งงาน พิธีจบการศึกษา(สวมได้ในฐานะผู้ร่วมยินดีในงาน แต่หากเป็นผู้จบการศึกษาเองต้องสวมกิโมโนประเภทอื่น เช่น กิโมโน Furisode หรือ Hakama) งานเลี้ยง รับประทานมื้อค่ำ ชมการแสดง และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่ากิโมโนประเภทนี้เข้าก้บโอบิหลายชนิด เช่น โอบิ Fukuro สำหรับโอกาสที่เป็นทางการมาก โอบิ Nagoya ที่มีความเป็นทางการระดับปานกลาง หรือแม้กระทั่งโอบิ Hanhaba สำหรับโอกาสไม่เป็นทางการ

     นอกจากนี้ เราสามารถเติมสัญลักษณ์ประจำตระกูลเพื่อเพิ่มความเป็นทางการให้กิโมโนประเภทนี้ได้ โดยกิโมโน Iromuji ที่ไม่มีสัญลักษณ์ประจำตระกูล ถือว่าไม่เป็นทางการมาก ในขณะที่แบบที่มีสัญลักษณ์ประจำตระกูล 5 จุดนั้นมีความเป็นทางการสูงกว่ามาก และเมื่อสวมโอบิคู่กับกิโมโน Iromuji แล้ว นิยมผูกเงื่อนโอบิแบบ Taiko musubi (太鼓結び) หรือรูปกลอง ซึ่งเป็นรูปแบบทั่วไปที่สุดนั่นเอง

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Maihanami - blog

วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #6: Ume wa saitaka (Miyagawacho)

เพลง : Ume wa saitaka (梅は咲いたか)
แบบฉบับ : Miyagawacho


By: Peter Macintosh on Youtube
เกโกะ Miehina จากโอกิยะ Harutomi

By: fangsongs on Youtube
เกโกะ Kosen จากโอกิยะ Kaden

Fumiou, Tai Sakura Okiya

วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #6: เกอิชาสมัยใหม่

     เกอิชาสมัยนี้ยังคงอาศัยอยู่ในสำนักเกอิชาที่เรียกว่า โอกิยะ (Okiya : 置屋) เหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะในช่วงการเป็นเกอิชาฝึกหัด แต่หลังจากนั้น เมื่อขึ้นเป็นเกอิชาเต็มตัวที่มีประสบการณ์แล้วก็สามารถแยกตัวออกไปอยู่ด้วยตนเองได้ โดยสังคมชั้นสูงจากวัฒนธรรมของเกอิชานั้นเป็นส่วนหนึ่งของ Karyuukai (花柳界) ที่แปลว่าเมืองดอกไม้

     ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 การฝึกฝนเกอิชาจะเริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 4 ขวบ แต่สมัยนี้ การศึกษาภาคบังคับทำให้เด็กๆ ต้องเรียนจนถึงอายุ 15 ปี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว หากพวกเธอต้องการที่จะเป็นเกอิชา ก็สามารถติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเริ่มการฝึกฝนสู่การเป็นเกอิชาได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว พวกเธอมักตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางสายนี้หลังเรียนจบชั้นมัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มีไม่น้อย

     เกอิชายังต้องเรียนการบรรเลงเครื่องดนตรีญี่ปุ่นดั้งเดิมด้วย ซึ่งได้แก่ Shamisen, Shakuhachi และกลองต่างๆ รวมถึงยังต้องศึกษาเกมสำหรับงานเลี้ยง บทเพลงญี่ปุ่นโบราณ การเขียนอักษร การร่ายรำ การชงชา วรรณคดี และบทกลอนต่างๆ ด้วย ซึ่งพวกเธอจะสามารถเก่งขึ้นได้ด้วยการศึกษาเรียนรู้จากเกอิชาหรือไมโกะรุ่นพี่ และจากความช่วยเหลือของเจ้าของโอกิยะ (Okaa-san : お母さん)


Shamisen เครื่องดนตรีสามสายของญี่ปุ่น


     เนื่องด้วยวัฒนธรรมที่ซับซ้อน และการเป็นสังคมชั้นสูงของเหล่าเกอิชา ทำให้กิโมโนที่พวกเธอสวมใส่นั้นมีความยาวมาก พร้อมประกอบด้วยลวดลายงดงาม และมีการนำผ้าผืนยาวที่เรียกว่า “โอบิ (Obi : 帯)”มารัดทับกิโมโนบริเวณเอวเพื่อรักษาให้กิโมโนสามารถปกคลุมร่างกายได้

     จังหวัดเกียวโต ถือได้ว่าเป็นแหล่งของเกอิชาที่มีความมั่นคงและยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ดีที่สุด โดยในแถบญี่ปุ่นตะวันตกจะเรียกเกอิชาว่า “เกโกะ (Geiko : 芸子)” แต่ในแถบโตเกียวก็ยังคงเรียกว่าเกอิชา ซึ่งการจะพบเกอิชานอกเขต Hanamachi (花街) หรือ Chayagai (茶屋街 : แปลว่าเขตของโรงน้ำชา) เป็นเรื่องยากมาก เพราะสมัยก่อน ในปีคริสต์ศักราช 1920 มีเกอิชามากถึง 80,000 คนทั่วญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียงราวๆ 1,000-2,000 คนเท่านั้น

     ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงทำให้ความสนใจของคนญี่ปุ่นต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองนั้นลดน้อยลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำหรับแลกกับศิลปะจากเกอิชาที่สูงมากอีกประการ ยิ่งทำให้โลกในส่วนนี้ถูกละทิ้งมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยทำให้โลกของเกอิชาถูกฟื้นฟูขึ้นมาได้มาก อินเทอร์เน็ตช่วยให้เด็กผู้หญิงได้เห็นวัฒนธรรมของเกอิชา และต้องการที่จะเป็นเกอิชากันมากขึ้น

     เกอิชามักถูกจ้างไปงานเลี้ยงบ่อยๆ โดยส่วนมากจะจัดงานกันที่โรงน้ำชา (Ochaya : お茶屋) หรือภัตตาคารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม (Ryoutei : 料亭) สมัยก่อนจะคิดค่าจ้างเกอิชาด้วยการจุดธูป เรียกว่า Senkoudai (線香代 : ค่าธูป) หรือ Gyokudai (玉代 : ค่าอัญมณี) แต่ปัจจุบันจะคิดเป็นรายชั่วโมง และในแถบเกียวโตจะเรียกค่าจ้างเหล่านี้ว่า Ohana (お花) หรือ Hanadai (花代) ที่แปลว่าค่าดอกไม้ โดย Okaa-san จะติดต่อกับศูนย์กลางของเขตเกอิชา (Kenban : 検番) เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบ ได้จัดการกับตารางงานและตารางเรียนของเหล่าไมโกะและเกโกะทุกคน

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #6: Chikuwa

     Chikuwa (竹輪) เป็นอาหารญี่ปุ่นลักษณะเป็นหลอด ทำจากส่วนผสม เช่น ปลา Surimi เกลือ น้ำตาล แป้ง ไข่ เป็นต้น หลังจากผสมส่วนผสมทั้งหมดแล้วก็นำไปพันรอบแท่งไม้ไผ่ แล้วนึ่งหรือย่างจนสุก


Chikuwa

ตำรับ Chikuwa
สำหรับ 3 ชิ้น

วัตถุดิบ
     1. เนื้อปลา Cod และปลา Sea bream 300 กรัม
     2. เกลือ 3 กรัม
     3. ไข่ขาวแช่แข็ง 1 ฟอง
     4. น้ำตาล 9 กรัม
     5. แป้งมันฝรั่ง 9 กรัม
     6. น้ำแข็ง
     7. สาเก
½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
     1. เลือกก้างปลาออกให้หมด แล้วหั่นปลาทั้งสองชนิดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมกว้าง 3 เซนติเมตร
     2. เทเนื้อปลาทั้งสองชนิดรวมกัน แล้วนำไปล้างในนำผสมน้ำแข็งทันที การทำเช่นนี้จะช่วยลดกลิ่นคาวปลาได้
     3. วางกระดาษเช็ดมือลงบนถาด กรองเนื้อปลาออกจากน้ำด้วยกระชอน แล้วนำมากระจายกระดาษที่อยู่บนถาด จากนั้นวางกระดาษเช็ดมือทับเนื้อปลาอีกชั้น
     4. ซับน้ำออกจากเนื้อปลา แล้วห่อเนื้อปลาทั้งหมดด้วยพลาสติกห่ออาหาร
     5. นำเนื้อปลาที่ห่อแล้วไปแช่แข็งในตู้เย็น ให้แข็งเพียงบางส่วน
     6. เมื่อเนื้อปลาถูกแช่แข็งแล้ว ให้นำมาใส่ในเครื่องบดอาหาร เทเกลือ ไข่ขาวแช่แข็ง น้ำตาล แป้งมันฝรั่ง และน้ำแข็ง 3 ก้อน (จากถาดน้ำแข็ง) ลงไป

     7. ปิดฝาแล้วปั่นประมาณ 20 วินาที จนกว่าจะเข้ากัน
     8. เปิดฝาเครื่องปั่่น ใช้ไม้พายขูดเนื้อปลาที่ติดขอบลงมา แล้วปั่นใหม่อีก 2 รอบ เพื่อให้ได้เนื้อปลาที่นุ่มละมุน
     9. เทสาเกลงไปผสม (หากไม่ชอบแอลกอฮอล์สามารถใช้น้ำแแทนได้) แล้วปั่นต่อให้เข้ากัน
     10. เมื่อปั่นเสร็จแล้ว ตักส่วนผสมที่ได้ลงบนถาด เขียง หรืออุปกรณ์ที่มีพื้นผิวเรียบ พร้อมแบ่งเป็น 3 ส่วน สำหรับ Chikuwa 3 แท่ง
     11. เกลี่ยให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 10 เซนติเมตร วางแท่งไม้ไผ่ลงไปบริเวณขอบ แล้วค่อยๆ ใช้ไม้พายเกลี่ยหมุนให้เนื้อคลุมแท่งไม้ไผ่ จากนั้นใช้มือที่เปียกน้ำจัดแต่งรูปทรงให้สวยงาม
     12. นำไปย่างเหนือเตา ใช้ความร้อนต่ำ และค่อยๆ ให้เนื้อสุกทั่วกัน โดยระหว่างย่าง หากส่วนผิวเริ่มเต่ง ให้น้ำไม้แหลมๆ จิ้มลงไปเล็กน้อยเพื่อให้อากาศออกมาก่อนที่แท่ง Chikuwa จะมีรอยแยก ทั้งหมดใช้เวลาย่างประมาณ 20 นาที
     13. หากต้องการใส่ไส้ด้วยแตงกวา แครอท หรืออื่นๆ สามารถหั่นแล้วยัดใส่เข้าไปได้เลย

Fumiou, Tai Sakura Okiya

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Cooking with Dog

วันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #6: Komon

     กิโมโน Komon (小紋着物)

     กิโมโน Komon เป็นกิโมโนที่มีลายเหมือนกันตลอดทั้งตัว ชื่อกิโมโนประเภทนี้แปลตรงตัวได้ว่า "ลายเล็กๆ" แต่ความจริงแล้วไม้ต้องเป็นลายเล็กก็ได้ เพียงแค่เป็นลายเดียวกันทั่วกิโมโนก็จัดว่าอยู่ในประเภทนี้ และแตกต่างจากกิโมโน Houmongi ที่อาจมีลายเยอะคล้ายกัน แต่ไม่ซ้ำทั้งชุด


กิโมโน Komon มีลายเดียวซ้ำกันตลอดทั้งตัว

     กิโมโนประเภทนี้มีหลายได้หลากหลายแบบมาก ทั้งลายมาก ลา
ยน้อย ลากสดใส ลายยแบบเบาบาง ลายเรขาคณิต หรือแม้กระทั่งลายเส้น ซึ่งลายเหล่านี้มีความเชื่อว่า ยิ่งลายใหญ่ ยิ่งเหมาะสำหรับหญิงสาวที่อายุน้อย

     กิโมโน Komon ถูกจัดให้เป็นกิโมโนที่ไม่เหมาะสำหรับงานทางการ อาจเป็นโอกาสทั่วไปแทน เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ ใช้สวมเดินเล่นในเมือง ไปซื้อของ หรือใส่ในบ้าน ด้วยความไม่เป็นทางการเหล่านี้ จึงทำให้ไม่มีการเพิ่มความเป็นทางการให้กิโมโน Komon ด้วยการเติมสัญลักษณ์ประจำตระกูลลงไปบนหลังหรือแขนกิโมโน แต่บางครั้งก็อาจจัดเป็นระดับกึ่งทางการ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับลายว่าเหมาะสมหรือไม่ ในด้านชนิดของผ้า ผ้าไหมและใยสังเคราะห์จะมีความเป็นทางการมากกว่าผ้าธรรมดา และการเติมทองลงไปที่ลายบนกิโมโนจะเพิ่มระดับความทางการขึ้น

     โอบิเกือบทุกชนิดสามารถใส่คู่กับกิโมโนชนิดนี้ได้ ความเหมาะสมขึ้นอยู่กับความเข้ากันของลาย และโอกาสที่ใส่ ทั้งยังสามารถมัดโอบิได้หลายเงื่อนมากกว่ากิโมโนทั่วไปด้วย

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Maihanami - blog

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #5: Hagi Kikyo

เพลง : Hagi Kikyou (萩桔梗)
แบบฉบับ : Kamishichiken

By: aries61music on Youtube
ไมโกะ Satoryu จากโอกิยะ Nakasato

แบบฉบับ : Miyagawacho

By: Sbrd on Youtube
ไมโกะ Korin จากโอกิยะ Kaden
และเกโกะ Miehina จากโอกิยะ Harutomi

By: discodog01 on Youtube
ไมโกะ Satoai จากโอกิยะ Kawahisa

Fumiou, Tai Sakura Okiya

วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #5: การฝึกฝนเกอิชา

     ในสมัยก่อน การฝึกฝนเด็กสำหรับเป็นเกอิชาจะเริ่มตั้งแต่ยังเล็กๆ บางคนถูกผูกมัดกับสำนักเกอิชา (โอกิยะ [Okiya : 置屋]) ในฐานะบุตรบุญธรรม บุตรสาวของเกอิชาก็จะถูกเลี้ยงดูขึ้นมาเพื่อเป็นเกอิชาตามรอยบุพการีของพวกเธอ และถูกเรียกว่า “Atotori (跡取り)” ที่แปลว่า “ทายาท” ของโอกิยะ

     เกอิชาฝึกหัดจะถูกเรียกว่า “ไมโกะ (Maiko : 舞妓)” ส่วนมากพวกเธอก็จะถูกผูกมัดด้วยสัญญากับโอกิยะที่อาศัยอยู่ ช่วงนี้เธอจะไม่มีอุปกรณ์ประกอบอาชีพเป็นของตัวเอง ทั้งอาหาร กิโมโน โอบิ หรือแม้แต่ค่าเล่าเรียนศิลปะเฉพาะทางล้วนเป็นของโอกิยะทั้งสิ้น เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต่อไมโกะหนึ่งคนนั้นสูงมาก พวกเธอจึงต้องแบกรับหนี้สินเหล่านี้ และจ่ายคืนให้โอกิยะด้วยค่าจ้างที่เธอได้รับจากการทำงานเป็นเกอิชาฝึกหัด แต่เมื่อใดที่เธอได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นเกอิชาเต็มตัว และจ่ายเงินคืนให้โอกิยะครบแล้ว เธอก็สามารถออกจากโอกิยะ ไปอาศัยอยู่ด้วยตนเอง และทำงานเป็นเกอิชาที่ไม่ต้องพึ่งพาสำนักอีกต่อไป นั่นหมายความว่าเธอจะได้รับเงินทั้งหมดจากการทำงานเป็นรายรับ แต่ก็ต้องแลกกับรายจ่ายค่าอาหาร เครื่องแต่งกาย และค่าเล่าเรียนทั้งหมดเช่นกัน

     ก่อนจะได้เป็นไมโกะ จะต้องผ่านขั้นแรกซึ่งก็คือการเป็น “Shikomi (仕込み)” หรือขั้นเตรียมการก่อน หน้าที่ของ Shikomi คืองานบ้านและการศึกษาศิลปะขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานได้เช่นไมโกะหรือเกโกะ จากนั้นจะเริ่มการฝึกอย่างเป็นทางการด้วยการเป็น “Minarai (見習い)” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “การเรียนรู้จากการดู” หน้าที่ในขั้นนี้คือการดูและศึกษาการทำงาน การพูดคุยกับแขกของรุ่นพี่ไมโกะและเกโกะในงานเลี้ยงแบบญี่ปุ่น (Ozashiki : お座敷) การทำเช่นนี้จะช่วยให้ Minarai ได้ศึกษาการทำงานจริงๆ ของไมโกะ เกโกะ และศึกษาในตัวตนของลูกค้า แม้ว่า Minarai ได้เข้าร่วมงานเลี้ยง แต่ความสามารถของพวกเธอก็ยังไม่ได้รับการยอมรับถึงระดับนั้น และพวกเธอจะแต่งกายไม่เหมือนไมโกะหรือเกโกะ เหตุเพราะเป็นความตั้งใจจะทำให้แขกสังเกตและพูดถึงเธอ Minarai มักถูกจ้างไปด้วย แต่อาจไม่ได้รับการเชิญอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของงานเลี้ยง เพราะแต่เดิม Minarai จะตามพี่สาว (รุ่นพี่ไมโกะหรือเกโกะ [Onee-san : お姉さん]) ไปที่งานเลี้ยงเพื่อศึกษาการทำงานของรุ่นพี่โดยเฉพาะ โดยมีค่าจ้างเพียงหนึ่งในสามของค่าจ้างปกติเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือ Minarai มักไปร่วมงานเลี้ยงในที่เฉพาะที่ถูกกำหนดไว้ เรียกว่า Minarai-chaya (見習い茶屋) และถูกอบรมสั่งสอนโดยคุณแม่ (Okaa-san : お母さん) ที่หมายความถึงผู้ดูแลโอกิยะ ด้วยเหตุนี้พวกเธอจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรื่อยๆ เช่น การพูดคุยหรือเกมในงานเลี้ยง ซึ่งไม่มีสอนในโรงเรียน ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นของการเป็น Minarai

Minarai

     หลังจากผ่านขั้น Minarai มาแล้ว พวกเธอจะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเกอิชาฝึกหัดหรือ “ไมโกะ” ที่แปลว่าเด็กร่ายรำ ขั้นนี้อาจกินระยะเวลายาวนาวถึง 5 ปี มีการเรียนรู้ผ่านรุ่นพี่ไมโกะหรือเกโกะ โดยอาศัยความสัมพันธ์ฉันท์พี่สาวน้องสาว (Imouto-san : 妹さん) เป็นสำคัญ รุ่นพี่ไมโกะหรือเกโกะจะคอยแนะนำรุ่นน้องถึงทุกสิ่งที่ต้องใช้กับการทำงานใน Hanamachi (花街 ชื่อเรียกโดยทั่วไปของแหล่งเกอิชา) ทั้งมารยาทในพิธีชงชา การบรรเลง Shamisen การร่ายรำ ทักษะการพูดคุย และอื่นๆ โดยการเป็นไมโกะจะต้องผ่านการเรียนรู้มากมายซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ การเรียนรู้ศิลปะในโรงเรียนสอนเฉพาะทางที่มีในทุกๆ Hanamachi การเรียนรู้ในการให้ความบันเทิงจากการทำงานหรือจากรุ่นพี่ และการเรียนรู้ทักษะทางสังคมใน Hanamachi อันซับซ้อน ซึ่งอาจได้มาจากการเดินไปทำงานผ่านถนนที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว การพบปะหรือรับของขวัญจากแฟนคลับ ที่มีความสำคัญสำหรับพวกเธอในการสร้างเครือข่ายสนับสนัน เพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ในฐานะเกอิชา


     ปัจจุบันไมโกะถูกยกให้เป็นสิ่งที่สวยงามในสายตาชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว ลักษณะของไมโกะแตกต่างจากเกโกะค่อนข้างมาก ปกกิโมโนสีแดงถูกดึงต่ำลงไปด้านหลัง เน้นให้เห็นผิวบริเวณต้นคอ ซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดใจในสมัยก่อน ไมโกะยังทาแป้งขาวบนทั้งใบหน้าและคอ โดยจะเว้นให้เหลือผิวจริงบ้างด้วยการทาแป้งเป็นสองแฉก หรือสามแฉกในโอกาสพิเศษ กิโมโนของไมโกะจะเน้นสีสัน สวมคู่กับโอบิที่มัดด้วยเงื่อนที่มีความยาวถึงข้อเท้า และรองเท้า Okobo (おこぼ) ที่สูงเกือบ 10 เซนติเมตร ด้วยลักษณะของกิโมโนและรองเท้าที่หนัก จึงทำให้ไมโกะสามารถเดินได้ด้วยก้าวเล็กๆ เท่านั้น ส่วนทรงผมนั้นมีหลายทรงสำหรับไมโกะ หลักๆ คือ 5 ทรง ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามโอกาสและความอาวุโส เรียกทรงผมเหล่านี้รวมๆ ว่า Nihongami (日本髪) ประดับด้วยดอกไม้ประดิษฐ์ (Kanzashi : かんざし) และเพราะทรงผมแบบญี่ปุ่นโบราณนั้นทำยากและแพงมาก ทำให้ไมโกะจะต้องรักษาผมของพวกเธอไว้ให้คงอยู่ 1 สัปดาห์ ด้วยการนอนบนหมอนสูง (Takamakura : 高枕) และสามารถสระผมพร้อมทำผมใหม่ได้เพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยมีอีกจุดประสงค์หนึ่งเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตแบบโบราณให้คงอยู่ต่อไป

หมอนสูง (Takamakura)

     เมื่อไมโกะมีอายุได้ 20-21 ปีแล้ว เธอจะได้เข้าพิธี Erikae (衿替 แปลตรงตัวว่า “การเปลี่ยนปกกิโมโน”) เพื่อเลื่อนขั้นขึ้นเป็นเกอิชาเต็มตัว โดยจะต้องผ่านการเป็นไมโกะมาแล้ว 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับว่าเธอเริ่มเป็นไมโกะตั้งแต่อายุเท่าใด เพราะ Hanamachi ในเกียวโต กำหนดให้ไมโกะมีอายุมากที่สุดได้ 21 ปี หากถึงกำหนดแล้วต้องได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเกโกะ และประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้จนกว่าเธอจะลาออก

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia

วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ตำรับอาหารญี่ปุ่น #5: Chawanmushi

     Chawanmushi (茶碗蒸し) แปลตรงตัวว่า "เมนูนึ่งในถ้วยชา" เป็นคัสทาร์ตไข่สไตล์ญี่ปุ่น ที่ไม่เหมือนคัสทาร์ตทั่วไปตรงที่ของญี่ปุ่นจะทานเป็นอาหารจานหลัก ไม่ใช่ขนมหวาน ภายในประกอบไปด้วยไข่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ดะชิ และมิริง ทั้งยังมีส่วนประกอบอีกมากมายบรรจุในถ้วยชา เช่น เห็ด Shitake, Kamaboko, Yuri-ne, แปะก๊วย และกุ้ง โดยมีวิธีทำคล้ายไข่ตุ๋นของจีน แต่แตกต่างตรงส่วนโรยหน้า และเนื่องจากเมนูนี้มีลักษณะค่อนข้างเละ Chawanmushi จึงกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่เมนูอาหารญี่ปุ่นที่ต้องรับประทานด้วยช้อนแทนตะเกียบ

Chawanmushi

ตำรับ Chawanmushi
สำหรับ 4 ที่

วัตถุดิบ
     1. ไข่ 3 ฟอง
     2. ซุปดะชิ 2 ถ้วย (480 มิลลิลิตร)
     3. เกลือ ½ ช้อนชา
     4. ซีอิ๊ว 2 ช้อนชา
     5. สาเก 1 ช้อนชา
     6. มิริง 1 ช้อนชา
     7. กุ้ง 2-4 ตัว (หั่นได้ถ้าใหญ่เกินไป)
     8. สะโพกไก่ ½ ชิ้น (หั่นพอดีคำ)
     9. เห็ดหอม 1-2 ต้น (หั่น)
     10. ต้นหอมหั่นบาง

วิธีทำ
     1. หมักไก่และกุ้งในชามแยกกัน โดยหมักไก่ด้วยซีอิ๊ว ½ ช้อนชา และสาเก ½ ช้อนชา ในชามอีกใบหมักกุ้งด้วยซีอิ๊ว ½ ช้อนชา และสาเก ½ ช้อนชาเช่นกัน แล้วทิ้งไว้ 2 นาที
     2. ผสมไข่ ซุปดะชิ เกลือ ซีอิ๊ว 1 ช้อนชา และมิริงเข้าด้วยกันในชามใบใหญ่อีกใบ จากนั้นนำไข่ผสมแล้วที่ได้มากรองผ่านกระชอน
     3. แบ่งส่วนผสม ซึ่งได้แก่ ไก่ กุ้ง เห็ดหอมทั้งหมดเป็น 4 ส่วน ใส่ในถ้วย 4 ใบเท่าๆกัน (สำหรับเสิร์ฟ 4 ที่) เทไข่ที่ผสมแล้วจากข้อ 2 ลงไปประมาณ ¾ ของถ้วย ปิดด้วยฟอยล์ แล้วนำไปนึ่ง
     4. นึ่งด้วยอุณหภูมิปานกลางเป็นเวลาประมาณ 10-15 นาที สามารถทดสอบได้ด้วยการจิ้มลงไปในเนื้อไข่ด้วยส้อม (หรือไม้เสียบลูกชิ้น) หากไข่สุกแล้วจะมีซุปใสๆ ติดมากับส้อม
     5. โรยหน้าด้วยต้นหอมหั่นบาง แล้วปิดฝาถ้วยทิ้งไว้ 2-3 นาที ก่อนเสิร์ฟ

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia และ Japanesecooking101

วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560

กิโมโนศาสตร์ #5: Houmongi และ Tsukesage

     กิโมโน Houmongi (訪問着着物)

กิโมโน Houmongi จะมีลายที่ต่อเนื่องข้ามชิ้นผ้า

     กิโมโน Houmongi แปลตรงตัวได้ว่า "เครื่องสวมใส่ของผู้มาเยือน" เพราะเป็นกิโมโนสำหรับใช้สวมเมื่อต้องออกนอกบ้านของหญิงชนชั้นสูงในยุค Meiji (ค.ศ.1868-1912) กิโมโนประเภทนี้จัดอยู่ในกิโมโนระดับกึ่งทางการ ซึ่งสามารถสวมใส่ได้ทั้งหญิงโสดและหญิงที่แต่งงานแล้ว และนิยมใส่ในงานเลี้ยงหรืองานแต่งงาน โดยกิโมโน Houmongi นี้จะมีแขนที่สั้นกว่า Furisode (振袖) มาก และจะมีลายที่ต่อเนื่องกัน มากกว่า Tomesode (留袖) ที่มีลายเฉพาะด้านล่างถึงเอว

     สำหรับโอบิที่นิยมสวมคู่กันนั้น โดยทั่วไปจะเป็นโอบิ Fukuro (袋帯) ผูกด้วยเงื่อน Taiko (Taiko Musubi : 太鼓結び)

     กิโมโน Tsukesage (付け下げ着物)


กิโมโน Tsukesage มีลายเล็กๆ และไม่ต่อเนื่อง

     กิโมโน Tsukesage เป็นกิโมโนที่คล้ายกับ Houmongi แต่จะมีระดับความเป็นทางการที่น้อยกว่า และจะมีลายที่เล็กกว่า ซึ่งส่วนมากจะไม่ค่อยต่อเนื่องกันเหมือนกิโมโน Houmongi โดยมีลายที่ล่างระดับเอว บริเวณไหล่และแขนขวา และจะไม่ข้ามชิ้นผ้า ยกเว้นส่วนด้านหน้า (เมื่อสวม)

     กิโมโนประเภทนี้ถูกมองว่ามีความเป็นทางการน้อยกว่ากิโมโน Houmongi เว้นแต่ว่าจะมีสัญลักษณ์ประจำตระกูลปรากฎอยู่ด้านหลังตัวกิโมโน สิ่งนี้จะทำให้กิโมโน Tsukesage มีความเป็นทางการมากขึ้น


Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Maihanami - blog

วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

รำอย่างงาม ตามฉบับญี่ปุ่น #4: Rokudan Kuzushi (Gion Kobu)

เพลง : Rokudan Kuzushi (六段くずし)
แบบฉบับ : Gion Kobu


By: Kei Gekiku on Youtube
ไมโกะ Katsueจากโอกิยะ Odamoto 
และเกโกะ Satsuki จากโอกิยะ Tsurui

By: woi3ocho2jin1 on Youtube
ไมโกะ Momokazu จากโอกิยะ Odamoto

By: asa1bann2 on Youtube
เกโกะ Terukoma จากโอกิยะ Tsurui
และเกโกะ Mahiro จากโอกิยะ Mi no Yae

Fumiou, Tai Sakura Okiya

วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เกอิชา นาฏนารี #4: ระบบ และแหล่งของเกอิชา

     หากกล่าวถึงระบบและลำดับขั้นของเกอิชาที่ซับซ้อนที่สุด คงหนีไม่พ้นเกียวโต สังคมเกอิชาในเกียวโตแบ่งออกเป็น 5 เขต หรือที่เรียกว่า “Gokagai (五花街)” หรือ “Hanamachi (花街 : เมืองดอกไม้)” ได้แก่ Gion Kobu (祇園甲部), Ponto-chou (先斗町), Kamishichiken (上七軒), Gion Higashi (祇園東), และ Miyagawa-chou (宮川町) ด้วยความเลอค่า และการบริหารงานด้วยนักฐุรกิจและนักการเมืองที่ทรงพลัง ทำให้ Gion Kobu, Ponto-chou และ Kamishichiken ถือเป็นระดับสูง (อาจกล่าวได้ว่า Gion Kobu อยู่ในระดับสูงที่สุด) และหนังสือของ Dalby (1983) จากประสบการณ์ตรงของเธอในปี 1975 กล่าวถึงเกโกะในสองเขตที่เหลือ (Gion Higashi และ Miyagawa-chou) แม้จะมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเขตอื่น แต่กลับถูกมองว่ามีระดับสูงน้อยกว่าสามเขตที่กล่าวมา


แผนที่แสดงเขตเกอิชาในเกียวโตทั้ง 5 เขต

สัญลักษณ์ของแต่ละเขตเกอิชาในเกียวโต

     เกอิชาไม่ได้มีอยู่แค่ในเกียวโต แต่ยังมีอยู่ในเมืองและจังหวัดอื่นๆ ในญี่ปุ่นอีก เช่น เขต Asakusa (浅草) ในโตเกียว, จังหวัดนะระ, เมือง Anjou (安城) จังหวัดไอชิ และอีกมากมาย

แผนที่แหล่งเกอิชาทั่วญี่ปุ่น

Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Wikipedia