โดย Geisha-kai on Tumblr
ตอนที่ 6 (ตอนจบ)
Q: คุณคิดว่าสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองสมัยนี้เอื้อต่อการเป็นอยู่ของเกอิชาไหมคะ
A: ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นมีกำลังซื้อสินค้าและบริการที่หรูหราลดน้อยลงค่ะ ทำให้ศิลปะแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมหลายแขนง รวมถึงเกอิชา กลายเป็นบริการระดับสูงที่มีราคาแพง สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลให้การสนับสนุนเกอิชาให้ประกอบอาชีพต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากมากค่ะ
Q: คุณคิดว่าสังคมเกอิชาจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต และจะมีวิธีปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอย่างไรบ้างคะ
A: ฉันหวังว่าศิลปะแบบดั้งเดิมทั้งหลายรวมถึงวัฒนธรรมของเกอิชานี้จะสามารถเจริญเติบโตต่อไปในอนาคตได้ เราต้องมีความทะเยอทะยานค่ะ ต้องพยายามทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้เข้าถึงคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติมากขึ้น และฉันก็หวังด้วยว่าจะต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนในด้านศิลปะดั้งเดิมเพิ่มขึ้น ลองจินตนาการดูสิคะ ในอนาคต หากเกอิชา นักแสดงโนะ (能 : Noh [ละครเวทีญี่ปุ่นโบราณ]) ช่างแต่งกิโมโน และอื่นๆ อีกมาก กลายเป็นเพียงเรื่องราวในหนังสือหรือละคร นั่นคงเป็นอนาคตที่แสนเศร้า ฉันคิดว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้วัฒนธรรมศิลปะเหล่านี้ยังคงอยู่ต่อไป คือการรู้จักปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกสิ่งหนึ่งคือต้องยอมรับเลยว่ายุครุ่งเรืองของเกอิชาได้ผ่านไปแล้ว อุปสงค์ของลูกค้าก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นเกอิชาต้องยอมปรับเปลี่ยนตัวเองเล็กน้อย เพื่อให้เข้ากับแขกสมัยใหม่มากกว่าเดิม ซึ่งเกียวโตก็เป็นแหล่งวัฒนธรรมด้านนี้ที่ยังคงรักษาไว้ได้เหมือนแต่เก่าก่อนมากที่สุดอยู่แล้ว ก็ต้องรักษาต่อไป ส่วนแหล่งเกอิชาที่อื่นๆ เช่น โตเกียว, Nara, Niigata และที่อื่น มันก็มีที่ว่างสำหรับการเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรมใหม่ในเกียวโต คือลานเบียร์ Kamishichiken ในเกียวโต, หรือ Gion Corner นั่นคือตัวอย่างของการปรับตัวที่เยี่ยมมากค่ะ ต่อไปเกอิชาก็จะกลายเป็นผู้ให้ความบันเทิงอันทรงคุณค่า ที่สามารถแสดงศิลปะของตนเองออกมาได้มากกว่าในงานเลี้ยง แต่จริงๆ แล้วจะเป็นอย่างไรก็ต้องค้นหากันต่อไปค่ะ
Q: มีโอกาสไหมคะที่คนอื่นๆ ที่สนใจจะได้เป็นเกอิชาแบบคุณบ้าง
A: ถ้าคุณต้องการจะเป็นเกอิชาจริงๆ แล้วละก็ จงเชื่อมั่นในตัวเอง คุณต้องทำได้แน่นอนค่ะ แต่มันอาจยากหรือต้องสละหลายสิ่งไป แต่ก็เหมือนฉันแหละค่ะ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องเรียนภาษาญี่ปุ่น ไม่ต้องรีรอ เริ่มได้เลยตอนนี้ค่ะ สิ่งนี้จะเป็นกุญแจช่วยเป็นประตูความฝันของคุณได้ หากคุณพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ เรื่องนี้จะกลายเป็นเป็นไปไม่ได้ทันทีค่ะ อย่างที่สอง คุณต้องมาญี่ปุ่นให้ได้ จากนั้นก็เริ่มเรียนรำ เรียนบรรเลงเครื่องดนตรีญี่ปุ่น เรียนเกี่ยวกับกิโมโนและชา จงพยายามต่อไป ให้ชื่อเสียงของคุณดังกึกก้อง และอย่างที่ฉันบอกไป มันยากก็จริง แต่อย่าเพิ่งท้อถอย พยายามต่อไปนะคะ หากมันคือความฝันที่คุณจริงจังจริงๆ คุณต้องทำได้แน่นอนค่ะ
Q: เกอิชาในเกียวโตและโตเกียวแตกต่างกันอย่างไรคะ
A: เกอิชาในสองที่นี้ค่อนข้างแตกต่างกันเลยค่ะ ฉันก็พอทราบมาบ้าง แต่ไม่เคยพบเกโกะเกียวโตตัวจริงสักทีนะคะ เกโกะที่เกียวโตมีตารางการฝึกซ้อมที่เข้มข้นจริงจังกว่า และในงานเลี้ยง โตเกียวและเกียวโตก็มีบรรยากาศที่ต่างกันด้วยค่ะ ในโตเกียว พวกเราจะมีเพลงและร่ายรำที่ทรงพลังและครึกครื้นมากกว่า แต่ระดับความเป็นทางการนั้นน้อยกว่าในเกียวโต ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าด้วยนะคะ
Q: คุณคิดว่าประโยคที่ว่า “วัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายประเภทกำลังสูญหาย” เป็นจริงไหมคะ
A: ฉันไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นค่ะ เพียงแค่วิถีชีวิตของคนสมัยใหม่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง วัฒนธรรมหลายๆ อย่าง เช่น พิธีชงชา หรือเกอิชาและงานเลี้ยง ที่เคยเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ก็กลายเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโอกาสพิเศษเท่านั้น ส่วนตัวฉันก็พยายามจะร่วมมือกับศิลปินท่านอื่น เพื่อฟื้นฟูและค่อยๆ ปรับศิลปะเหล่านี้ให้เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้นค่ะ
Q: คุณเริ่มต้นการฝึกด้วยการเป็น Shikomi หรือ Minarrai ก่อนไหมคะ แล้วที่เกียวโตเขาเรียกการฝึกฝนเหล่านี้เหมือนกันไหมคะ
A: โอกิยะ (置屋: Okiya [สำนักเกอิชา]) ส่วนใหญ่ในโตเกียวจะไม่มีช่วง Shikomi (仕込み : Shikomi [ช่วงฝึกก่อนเป็นไมโกะ Shikomi มีหน้าที่หลักคือดูแลบ้าน ทำความสะอาด โดยไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งกิโมโนแบบไมโกะหรือเกโกะ]) ค่ะ โดยจะทำข้อตกลงกับหญิงที่มีอาชีพอื่นอยู่แล้ว แต่ต้องการเป็นเกอิชาด้วย ด้วยสิ่งนี้นั่นเอง ที่ทำให้เกอิชาในโตเกียวไม่มีโอกาสได้อาศัยร่วมกันในโอกิยะเหมือนในเกียวโตค่ะ
**ติดตาม Kimicho-san ได้ที่ Instagram ของเธอ**
Fumiou, Tai Sakura Okiya
ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก Geisha-kai on Tumblr
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น